แหล่งข่าวสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทาง 9 สหกรณ์ ประกอบด้วย สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ ,สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่,สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้,สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยภาคกลาง,สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว จำกัด,สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ชลบุรี จำกัด,สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่-ลำพูน จำกัด,สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ลุ่มแม่น้ำน้อย จำกัด,สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่สุพรรณบุรี จำกัด ได้ทำหนังสือร้องเรียน ถึงนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เรื่องขอให้พิจารณาทบทวนและดำเนินการตรวจสอบฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่จากแหล่งที่ผลิตในประเทศ ของฟาร์มแห่งหนึ่งใน จังหวัดราชบุรี
ตามที่กรมปศุสัตว์ ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่จากแหล่งที่ผลิตในประเทศ เพื่อศึกษาและตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการพัฒนาสายพันธุ์และการผลิตลูกไก่ไข่จากพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ที่ผลิตภายในประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อนำข้อมูลมาใช้ประกอบการบริหารจัดการการเลี้ยงไก่ไข่ของประเทศไทย
โดยมี น.สพ.โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นที่ปรึกษา , ผู้เชี่ยวชาญด้านส่งเสริมและพัฒนาสัตว์ปีก กองส่งเสริมและพัฒนาด้านการปศุสัตว์ เป็นประธานฯ และมีผู้แทนสถาบันการศึกษา, ผู้แทนองค์กรผู้เลี้ยงไก่ไข่ ตลอดจนผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นคณะทำงานด้วยนั้น
โดยคณะทำงานตรวจสอบฯ มีอำนาจหน้าที่ ตรวจสอบข้อมูลพันธุ์สัตว์ การปรับปรุงพันธุ์สัตว์ กำลังการผลิต และปริมาณผลผลิตไข่สำหรับทำพันธุ์ไก่ไข่ ของฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่จากแหล่งที่ผลิตภายในประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อตรวจสอบ
1.ข้อมูลพันธุ์สัตว์ ประสิทธิภาพของพันธุ์ไก่ไข่ที่ถือครองอยู่ในปัจจุบัน
2. ข้อมูลการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ ความเป็นมาของพันธุ์ไก่ไข่ที่ฟาร์มถือครองอยู่ในปัจจุบัน
3, กำลังการผลิตและปริมาณผลผลิตไข่สำหรับทำพันธุ์ไก่ไข่
4. ต้นทุนในการผลิตพันธุ์สัตว์ในปัจจุบัน
5. ข้อมูลประสิทธิภาพการผลิตของไก่ไข่ยืนกรง
6.แหล่งจำหน่ายพันธุ์สัตว์ข องฟาร์ม เพื่อรายงานผลการตรวจสอบให้อธิบดีกรมปศุสัตว์รับทราบ
ทั้งนี้ คณะทำงานตรวจสอบฯ ได้มีการเข้าตรวจสอบฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่จากแหล่งที่ผลิตภายในประเทศ ในฟาร์มแห่งหนึ่งที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2565 และได้มีการรายงานผลให้อธิบดีฯ และคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) ได้รับทราบไปแล้ว นั้น
อย่างไรก็ตาม กลุ่มองค์กรเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ ขอนำเรียนให้ท่านอธิบดีฯ ทราบว่าปัจจุบันปริมาณพันธุ์สัตว์และผลผลิตไข่ไก่ เริ่มมีในระบบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลุ่มองค์กรฯ ได้หารือและมีข้อสรุปร่วมกันว่า ควรให้มีการทบทวนและติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของฟาร์มดังกล่าว เนื่องจากมีกระแสข่าวว่าการประกอบการของฟาร์มแห่งนี้อาจไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งไว้กับกรมปศุสัตว์ในตอนแรก
โดยเฉพาะมีการผลิตและจำหน่ายพันธุ์ไก่ไขในลักษณะเชิงพาณิชย์ ถ้าหากประเด็นนี้เป็นข้อเท็จจริง ฟาร์มแห่งนี้ก็มีคุณสมบัติหรือเข้าหลักเกณฑ์ที่ควรจัดอยู่ในกลุ่มของผู้ประกอบการไก่ไข่พันธุ์ ซึ่งต้องอยู่ภายใต้กฏ กติกา และระเบียบปฏิบัติ เช่นเดียวกับผู้ประกอบการไก่ไข่พันธุ์ (16 ราย) ตามมติเอ้กบอร์ดห็นชอบแผนการนำเข้าเลี้ยงไก่ไข่พันธุ์ (GP และ PS) ปี 2567 ประกอบด้วย ไก่ไข่ปู่ย่าพันธุ์(GP) จำนวน 3,800 ตัว ไก่ไข่พ่อแม่พันธุ์ (PS) จำนวน 440,000 ตัว