สถานการณ์ราคาไข่ไก่ (ณ วันที่ 7 ก.พ. 2567) ไข่ไก่คละหน้าฟาร์มอยู่ที่ฟองละ 3.40 บาท ปรับลดลง 20 สตางค์ จากก่อนหน้านี้ตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม เป็นต้นมา อยู่ที่ 3.60 บาทต่อฟอง ขณะที่ กรมปศุสัตว์ ได้มีมาตรการส่งออกไข่ไก่เพิ่มอีกเดือนละ 60 ตู้ เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือน และให้ผู้เลี้ยงช่วยกันเร่งปลดแม่ไก่มากขึ้น
นายกรีฑา ชูทับทิม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ รักษาการนายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ (เป็นน้องชายของนายมาโนช ชูทับทิม นายกฯสมาคมที่อยู่ระหว่างรักษาสุขภาพ) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตนเพียงมาขัดตาทัพชั่วคราว โดยได้รับมอบหมายงานเมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา ทั้งนี้มองว่าปัญหาไข่ไก่ มีหลายปัญหารุมเร้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพันธุ์สัตว์ ซึ่งมีทั้งผลิตในประเทศ และที่สั่งไก่ไข่พ่อแม่พันธุ์ (PS) และไก่ไข่ปู่ย่าพันธุ์ (GP) นำเข้ามาเลี้ยง วันนี้ยังไม่ไม่ทราบจำนวนที่ชัดเจนว่าในประเทศมีจำนวนเท่าไร และจำนวนไก่ยืนกรงมีเท่าไร
“ส่วนการปลดแม่ไก่ไข่ ก็เป็นปัญหาโลกแตก อยากจะปลดแต่ปลดไม่ได้ เพราะไม่มีคนจับ ซึ่งคนจับก็มีไม่กี่ราย และโรงเชือดแต่ละโรงก็รับได้น้อยมาก เพราะตลาดเมียนมา ลาว กัมพูชา ขายไม่ดี ส่วนพันธุ์สัตว์ที่มาทดแทนก็หาได้ง่ายขึ้น และมีคนอยากได้กันมากขึ้น ทั้งที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ยังคำนวณต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 3.60-3.80 บาท/ฟอง ขณะที่ราคาไข่ไก่ขายจริงขึ้นอยู่กับคุณภาพ หากค้าง 3 วัน ราคาก็ต้องปรับลดลงมาอีก เพราะเสี่ยงเน่าเสีย”
นายกรีฑา ยังให้ความเห็นในเรื่องการประกาศราคาไข่ไก่ว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งมาประกาศราคา ซึ่งทุกครั้งจะประกาศราคาขึ้นหรือลงจะมีการประสานงานทุกสมาคม ทุกองค์กร อาทิ ฟาร์ม สหกรณ์ ผู้ค้า เป็นต้น ซึ่งจะมีการหารือกันว่าสถานการณ์ตลาดในขณะนั้นเป็นอย่างไร ผลผลิตมีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากของเหลือมาก จะไปดันทุรังปรับราคาไข่ขึ้นก็คงไม่ใช่วิสัย ดังนั้นจึงไม่สามารถประกาศราคาตามอำเภอใจได้
“ปัจจุบันมีการผลักดันส่งออก โดยได้รับการชดเชยเงินจากกองทุนพัฒนาอุตสาหกรรมไก่ไข่ ที่มีการชดเชยให้กับผู้ส่งออก จะเป็นตัวหลักที่จะช่วยให้ปริมาณไข่ไก่ในประเทศลดลง 18 ล้านฟอง (1 ตู้ ปริมาณ 3 แสนฟอง คูณ 60 ตู้) ในระยะเวลา 3 เดือนนับจากนี้ ซึ่งตัวหลักคือบริษัทในเครือซีพี 30 ตู้ต่อเดือน รองลงมา เครือแสงทอง และเบทาโกร คนละ 15 ตู้ ซึ่งตรงนี้มองว่าจะเป็นความหวังมากกว่าที่จะช่วยให้ราคาไข่ปรับตัวดีขึ้น ส่วนจะหวังเทศกาลตรุษจีนช่วยเพิ่มการบริโภค อาจจะลุ้นไม่ขึ้น เพราะจำนวนแม่ไก่ปลดระวางไม่รู้จำนวนแน่ชัด
ขณะที่ นายมานิจ วิบูลย์พันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามเฮอริเทจ บรีดดิ้ง จำกัด เจ้าของมานิจฟาร์มอ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ที่ผันตัวมาเป็นผู้ผลิตพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) กล่าวว่า จากมีคนถามเข้ามามากว่าว่าไม่กลัวไข่ไก่ล้นตลาดหรือ? ตนไม่กลัวเพราะไม่ได้เป็นคู่แข่งกับใคร หากรายใดสนใจที่อยากร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมไก่ไข่ทางบริษัทฯก็ยินดี โดยมีแค่ 2 วิธี คือ 1.เมื่อมาถือหุ้นบริษัทเพียงหุ้นละ 10 บาท (คู่มือ) โดยซื้อได้ไม่จำกัดจำนวนหุ้น และวิธีที่ 2 ซื้อไก่ไปเลี้ยงเอง ทั้งนี้วัตถุประสงค์ที่ตั้งเป็นบริษัทมหาชน ไม่ใช่เพียงเพื่อผลประโยชน์ของคนในประเทศเท่านั้น แต่ยังต้องการให้เป็นความมั่นคงของอาหารโลกด้วย
แหล่งข่าววงการค้าไข่ไก่ กล่าวว่า ช่วงนี้ปริมาณไข่ไก่เริ่มระบายออกสู่ตลาดได้มากขึ้น ซึ่งต้องมีการประเมินตลาดอีกครั้งหลังตรุษจีน ส่วนการที่จะทำให้ไข่ไก่มีความสมดุล ไม่ล้นในตลาดจะต้องมีผลผลิตไข่ไก่ประมาณวันละ 57-60 ล้านฟอง รวมถึงต้องส่งออกด้วย จากปัจจุบันข้อมูลของกรมปศุสัตว์มีแม่ไก่ให้ไข่กว่า 70 ล้านตัว ผู้ค้าประเมินคร่าว ๆ คาดไข่ไก่จะเกินความต้องการของตลาดวันละกว่า 1 ล้านฟอง
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,965 วันที่ 11-14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567