เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 16 มีนาคม 2567 นายธนดล สุวัณณะฤทธิ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจพญานาคราชพร้อมคณะกำลังเจ้าหน้าที่ รองเลขาฯ ส.ป.ก. เข้าตรวจสอบพื้นที่ โรงแรม รีสอร์ท ของนายทุน ที่มีชื่อในเอกสาร ส.ป.ก.4-01 ในพื้นที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ที่เชื่อมโยงจุดหลักหมุด ส.ป.ก.เขาใหญ่ บ้านเหวปลากั้ง หมู่ 10 ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา และบริเวณภูเขาวังหิน นอกเขตอุทยานฯ อีกแห่ง
โดยได้ทำการนัดเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ บริเวณร้านกาแฟปั๊มน้ำมัน ปตท. ริมถนนธนะรัชต์ กม.7 ฝั่งเข้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ต.หนองน้ำแดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งสื่อมวลชนที่ตามทำข่าว ยังไม่ทราบเป้าหมายล่วงหน้าว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าตรวจสอบพื้นที่จุดใด เป็นนายทุนที่นำพื้นที่ ส.ป.ก. ไปทำผิดวัตถุประสงค์ และไม่เป็นไปตามระเบียบ
นายธนดล สุวัณณะฤทธิ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากนโยบาย ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เอาจริงและให้ตรวจสอบผู้ที่ได้รับเอกสาร ส.ป.ก. ทั่วประเทศว่าเป็นเกษตรกรตัวจริงหรือไม่ หรือเป็นนายทุน โดยรื้อทั้งหมด ที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบและวัตถุประสงค์ คาดว่ากว่าสองล้านไร่ โดยจะนำร่องก่อนที่ อ.ปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา แห่งแรก เนื่องจากมีหลักฐานชัดเจน จากการตรวจสอบพบว่าผู้ได้เอกสาร ส.ป.ก.4-01 เป็นนายทุน เจ้าของโรงแรม รีสอร์ท ถือครองเอกสาร ส.ป.ก.4-01 กว่า 29 แปลง
โดยวันนี้ได้เปลี่ยนจากจุดเดิมเป็นจุดใหม่ เป็นพื้นที่โรงแรม รีสอร์ท และบ้านจัดสรร ชื่อดังอยู่นอกเขตติดแนวเขต อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยเข้าตรวจสอบว่าพื้นที่คาบเกี่ยวอยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก. และพื้นที่นิคมสร้างตนเอง มากน้อยแค่ไหน เนื่องจากได้รับการร้องเรียนมา เพื่อนำมาประเมินก่อนดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย หากพบว่ากระทำผิดจริง จะใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก
โดยให้เพิกถอนสิ่งปลูกสร้าง แต่ถ้าผู้ประกอบการไม่ยอมเพิกถอน ก็จะแจ้งความดำเนินคดี ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ม.3 (15) ความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ ยึดถือ หรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติหรือกระบวนการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันมีลักษณะเป็นการค้า อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่ใน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา จะเป็นหมุดหมายแรกที่ดำเนินการตรวจสอบการกระทำความผิดทั่วประเทศ
ทั้งนี้ เงื่อนไขในการเปลี่ยน ส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนดเพื่อเกษตรกรรม ที่ คปก. ต้องเปลี่ยน ส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนด เพื่อยกระดับ สามารถนำโฉนด ส.ป.ก.4-01 ไปประกันตัวผู้ต้องหาได้ รวมทั้งนำไปเข้าธนาคารมาเพื่อการเกษตรได้ ส่วนผู้มีสิทธิได้รับการจัดที่ดิน ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2532 ระบุ ผู้มีสิทธิได้รับการจัดที่ดิน ส.ป.ก. มี 3 ประเภท ที่มีสัญชาติไทย
1.เกษตรกร เป็นผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักอยู่แล้ว โดยใช้เวลาส่วนใหญ่ในรอบปี เพื่อประกอบเกษตรกรรมในท้องถิ่นนั้น
2.ผู้ประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรเป็นหลัก ผู้ยากจน มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี จบการศึกษาทางเกษตรกรรมไม่ต่ำกว่าระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพหรือเทียบเท่า เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม
3. สถาบันเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร ชุมชนสหกรณ์การเกษตรตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ ผู้ที่ผ่านตามเขื่อนไขก็มีสิทธิ ส่วนนอกเหนือจากนี้ ถือว่าผิดวัตถุประสงค์และระเบียบเงื่อนไข ไม่สามารถถือครองและเข้าไปทำประโยชน์ พื้นที่ ส.ป.ก. ได้