วันที่ 19 มีนาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เยี่ยมชมการจัดนิทรรศการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ในโอกาสนี้ นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้นำเสนอข้อมูลผ่านการจัดนิทรรศการของกรมวิชาการเกษตร ในหัวข้อ “นวัตกรรมการผลิตกาแฟอย่างยั่งยืน” ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 2/2567 บริเวณด้านหน้าหอประชุมพญางำเมือง มหาวิทยาลัยพะเยา
ก่อนหน้านี้กรมวิชาการเกษตร ได้จัดการประกวดสุดยอดกาแฟไทยชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เพื่อแสดงความสำนึกในพระมหาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้และสานต่อแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการส่งเสริมให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงนำกาแฟซึ่งเป็น พืชเศรษฐกิจ ไปปลูกในป่า สร้างรายได้จากกาแฟและช่วยดูแลป่า และสร้างการรับรู้อัตลักษณ์กาแฟไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในระดับประเทศและระดับสากล
สำหรับด้านนวัตกรรมเด่นที่กรมวิชาการเกษตรได้นำเสนอนายกรัฐมนตรี ในครั้งนี้ คือการขยายผลการใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตร เพื่อย่อยสลายตอซังฟางข้าวสำหรับการเตรียมดินในแปลงนาเขตชลประทาน ช่วยเกษตรกรลดการเผา เพิ่มธาตุอาหารในดิน ลดค่าปุ๋ย ซึ่งสามารถย่อยสลายตอซังและฟางข้าวภายในระยะเวลา 7 วัน ซึ่งนายกรัฐมนตรี และ รมว.เกษตร ได้ให้ความสนใจ และให้เป็นนโยบายสำคัญในการแก้ปัญหาการเผาตอซังฟางข้าว ที่จะช่วยลดผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในภาคการเกษตร
รวมถึง งานวิจัยเครื่องมือเก็บเกี่ยวกาแฟที่ออกแบบเป็นเครื่องแรกของประเทศไทย ในราคาเครื่องละ 5,000 บาท ที่สามารถเก็บเกี่ยวได้เร็วกว่าแรงงานคน 5 เท่า (60 กิโลกรัม/ชั่วโมง) โดยการเก็บเกี่ยวไม่ก่อความเสียหายแก่ต้นกาแฟ และนวัตกรรมการใช้สารชีวภัณฑ์ เชื้อราบิวเวอร์เรีย (Beauveria bassiana) ที่มีความเฉพาะเจาะจงกับมอดเจาะผลกาแฟ (DOA B18) อัตรา 1-2 ถุง ต่อน้ำ 10 ลิตร ฉีดพ่นอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ในช่วงติดผลจนถึงเก็บเกี่ยว ซึ่งเชื้อราดังกล่าวจะแทงเส้นใยเข้าไปทำลายอวัยวะภายในตัวแมลง ส่งผลให้แมลงอ่อนแอ ป่วย และตายในที่สุด
ในส่วนของนิทรรศการที่นำมาจัดแสดง กรมวิชาการเกษตรได้ถ่ายทอดเทคโนโลยี การผลิตกาแฟอาราบิกาในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เพื่อให้เป็นสินค้าเกษตร ปลอดภัย มูลค่าสูง ตามนโยบายของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการยกระดับสินค้าเกษตร เสริมศักยภาพเกษตรกร ทำการเกษตรใส่ใจสิ่งแวดล้อมซึ่ง “นวัตกรรมการผลิตกาแฟอย่างยั่งยืน”
ประกอบด้วย 4 นวัตกรรม ได้แก่ 1. พันธุ์และเทคโนโลยีการผลิต นำเสนอพันธุ์กาแฟอาราบิกา จำนวน 4 พันธุ์ (พันธุ์ กวก เชียงใหม่ 80, พันธุ์ กวก เชียงราย 1, พันธุ์ กวก เชียงราย 2, พันธุ์คาร์ติมอร์ และพันธุ์กาแฟโรบัสตา จำนวน 2 พันธุ์ (พันธุ์ กวก ชุมพร 2 และพันธุ์ กวก ชุมพร 4) ซึ่งให้ผลผลิตสูง และต้านทานโรคราสนิม รวมถึงเทคโนโลยีการผลิตกาแฟอาราบิกา และโรบัสตา ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ การปลูก การบำรุงดูแลรักษา การตัดฟื้นต้นกาแฟ เทคโนโลยีการผลิตกาแฟร่วมกับพืชอื่น การใส่ปุ๋ยอย่างถูกต้อง การป้องกันกำจัดโรค และแมลงที่สำคัญ โดยเฉพาะมอดเจาะผลกาแฟ
2. วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูป ได้แก่ ดัชนีการเก็บเกี่ยวกาแฟ การจัดชั้นคุณภาพของเมล็ดกาแฟโดยใช้วิธีทางกายภาพโดยวิธีการคัดเกรด (Green grading coffee) การหมักเมือกกาแฟจากจุลินทรีย์ เป็นต้น
3. เทคโนโลยีเครื่องจักรกลเกษตร และเครื่องมือแปรรูปสำหรับกาแฟ ได้แก่ เครื่องมือเก็บเกี่ยวกาแฟ พัฒนาต้นแบบเครื่องหมักกาแฟ เครื่องล้างทำความสะอาดผลกาแฟ และเครื่องหมักกาแฟ เป็นต้น
4. การสร้างมูลค่าเพิ่มจากกาแฟ ได้แก่ ชีวภัณฑ์ป้องกันโรคแอนแทรคโนสจากเปลือกหุ้มเมล็ดกาแฟสารปรุงรสอาหาร (ซอสผงปรุงรสและแป้งจากเปลือกกาแฟ) สารเคลือบผิวผลไม้เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาจากเมือกกาแฟ ซึ่งการนำ “นวัตกรรมการผลิตกาแฟอย่างยั่งยืน” มาดำเนินการในพื้นที่จังหวัดพะเยา จะก่อให้เกิดเทคโนโลยีการผลิตที่ถูกต้อง เหมาะสม สามารถพัฒนากาแฟที่ผลิตอยู่ในพื้นที่ ให้มีคุณภาพตามความต้องการของตลาด ส่งเสริมการผลิตตามมาตรฐาน ผลผลิตปลอดภัย ยกระดับกาแฟคุณภาพ ที่มีความปลอดภัยสูง สามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์กาแฟของเกษตรกร สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการเพิ่มรายได้ภาคเกษตร 3 เท่าใน 4 ปี