ยางพารา หนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักของไทย มีเกษตรชาวสวนยางที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศกว่า 1.6 ล้านครัวเรือน สร้างรายได้ให้เกษตรกร โรงงานแปรรูปส่งออกวัตถุดิบยางพารา ผลิตภัณฑ์ยางทั้งยางล้อรถยนต์ ถุงมือยาง ยางรัดของ และอื่น ๆ รวมถึงไม้ยางพาราในแต่ละปีคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 9.6 แสนล้านบาท ที่ผ่านมาเกษตรกรต้องเผชิญกับปัญหาราคายางผันผวน แต่นับจากนี้มีอีกหลายทางเลือกที่จะช่วยเพิ่มรายได้
ทางเลือกหนึ่งคือ การทำสวนยางภายใต้มาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ตามมาตรฐานขององค์กรอิสระเกี่ยวกับมาตรฐานการรับรองป่าไม้ (Forest Stewardship Council : FSC) ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก ซึ่งจะให้การรับรองกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์จากไม้ และการค้า ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการปลูกสวนยาง การเก็บเกี่ยว การแปรรูป รวมถึงการซื้อขายผลิตภัณฑ์
นอกจากนี้คือการปฏิบัติตาม EUDR (EU Deforestation Regulation) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (อียู) ครอบคลุม 7 กลุ่มสินค้า ได้แก่ ยางพารา กาแฟ โกโก้ ถั่วเหลือง ปาล์มนํ้ามัน โค และไม้รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปของสินค้าเหล่านี้ รวมถึงสวนยางยังสามารถขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (โครงการ T-Ver) กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.เพื่อเข้าสู่ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม
รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ขอสนับสนุนให้สวนยางทั่วประเทศตามที่ขึ้นทะเบียนไว้กับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) 22 ล้านไร่ เข้าสู่มาตรฐานของ FSC ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับชาวสวนยางและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องในอนาคต ทั้งนี้หากเกษตรกร และอุตสาหกรรมต่อเนื่องยางพาราสามารถทำได้ตามมาตรฐานและผ่านการรับรอง FSC จะได้ใน 2 เรื่องคือ 1.ได้ EUDR โดยอัตโนมัติ เพราะปลอดการตัดไม้ทำลายป่า และ 2.ถ้าทำ FSC จะทำให้เข้าสู่ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นที่ต้องการของตลาดของประเทศ / กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น อียู สหรัฐ ญี่ปุ่น
อย่างไรก็ดีการทำสวนยาง FSC รัฐบาลโดย กยท.ควรประกาศบวกเพิ่มราคายางให้กับเกษตรกรที่ทำตามมาตรฐาน FSC เช่น บวกเพิ่มให้อีก 6 บาทต่อกิโลกรัม(กก.)เพื่อเป็นแรงจูงใจ เนื่องจากการทำสวนยาง FSC เกษตรกรมีต้นทุนเพิ่มจากค่าจ้างแรงงาน ที่ต้องเตรียมดินปลูกตามมาตรฐาน FSC ค่าดูแลรักษา (รวมค่าจ้างพนักงานในการตรวจสอบ FSC) ค่าใช้จ่ายชุดป้องกันสารเคมี ชุดป้องกันตัดหญ้า และถังขยะ ค่าขนส่งไปยังโรงงาน ค่าใช้จ่ายในการตรวจรับรอง และอื่น ๆ ทำให้เกษตรกร/กลุ่มสหกรณ์ชาวสวนยางมีต้นทุนและค่าบริหารจัดการเพิ่มสูงกว่าสวนยาง Non FSC ประมาณ 3.50 บาทต่อกก. ดังนั้นหากจะเพิ่มแรงจูงใจต้องบวกเพิ่มราคายางให้เกษตรกรอย่างน้อย 6 บาทต่อกก.
“รัฐบาลโดย กยท.ควรประกาศบวกเพิ่มราคายางให้กับสวนยาง FSC อีก 6 บาทต่อกิโลกรัมเพื่อสร้างแรงจูงใจเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จากปัจจุบันมีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทำสวนยางตามมาตรฐาน FSC ของ กยท.แล้ว 17,145.65 ไร่ มีสมาชิก 861 ราย อยู่ในพื้นที่ จังหวัดมุกดาหาร ตรัง สงขลา ชุมพร ตราด สุราษฎร์ธานี และสงขลา ซึ่งราคาที่บวกเพิ่มถือเป็นการกำหนดราคาให้ตลาด ถ้าโรงงานแปรรูปไม่ซื้อเราก็ไม่ขาย”
ปัจจุบันในยุโรปมีบริษัท Pirelli ผู้ผลิตยางล้อรถยนต์รายใหญ่ของอิตาลี ประกาศว่าวัตถุดิบยางต้องมาจากสวนยาง FSC เท่านั้น ขณะที่ค่ายมิชลิน บริษัทยางล้อรถยนต์ของฝรั่งเศสประกาศจะงดรับซื้อยางพาราไทยหากไม่ได้รับรองมาตรฐาน FSC และเวลานี้ยังมีความเคลื่อนไหวที่สำคัญในยุโรปโดยแบรนด์สินค้าดังๆ ในยุโรปมีการใช้ไม้ เช่นไม้ยางพารา ไม้ยูคาลิปตัสในการทำกล่องบรรจุภัณฑ์ และระบุคำว่า FSC ที่ข้างกล่อง โดยรับซื้อไม้ในราคาสูง
ดังนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทยที่ต้องไปเจรจากับประเทศคู่ค้าว่าไทย ราคายางพาราของไทยในมี 2 ราคาคือ ราคา FSC และราคา Non FSC เพื่อเป็นทางเลือก และเป็นแรงจูงใจให้โรงงานแปรรูปยางทั้งในและต่างประเทศให้ราคากับเกษตรกรในราคาที่สูงขึ้น ถือเป็นการทำงานเชิงรุก จากไทยเป็นผู้ผลิตยางพาราคาอันดับหนึ่งของโลก ควรมีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น
“การทำสวนยาง FSC ยังไปตอบโจทย์ของการลดโลกร้อน โดยยางสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์นำสู่การซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ โดยจากสวนยางที่ถูกต้องตามกฎหมายที่ขึ้นทะเบียนกับการยางฯมีถึง 22 ล้านไร่ การเข้าสู่ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตจะช่วยสร้างรายได้เพิ่มกับเกษตรกร และเป็นอีกส่วนสำคัญที่จะทำให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตามเป้าหมายของประเทศได้”
รศ.ดร.อัทธ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่อียูจะบังคับใช้กฎหมาย EUDR ซึ่งจะมีผลในทางปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2567 ว่า มองจะเป็นโอกาสในการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ของไทยไปอียูเพิ่มขึ้น เพราะยางพาราไทยมาจากสวนยางที่ไม่มีปัญหาการบุกรุกทำลายป่า จากข้อมูลในปี 2566 ไทยมีการส่งออกยางพาราไปอียูมูลค่า 1,590.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่กาแฟ มีการส่งออก 393 ล้านดอลลาร์ ไม้ ส่งออก 61.55 ล้านดอลลาร์ และโกโก้ ส่งออก 4.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ
ด้าน นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) กล่าวว่า ยางพาราไทยถือมีความพร้อมมากที่สุดในการรองรับกฎหมาย EUDR เพราะสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. 22 ล้านไร่มาจากสวนยางที่ไม่บุกรุกทำลายป่าที่ผิดกฎหมาย และถือเป็นโอกาสของสินค้ายางพาราของไทย กรณีมีการบังคับใช้กฎหมายและเริ่มมีผลในทางปฏิบัติในปลายปีนี้ คาดจะมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ไทยส่งออกยางพาราไปตลาดอียูได้เพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถตรวจสอบย้อนกลับที่มาของสินค้า และสวนยางต้นทางได้
อย่างไรก็ดี กรณีสวนยาง FSC ที่ทาง กยท.ได้เริ่มโครงการนำร่องแล้ว (โครงการส่งเสริมการทำสวนยางตามาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน)ในหลายพื้นที่ แต่ทางกยท.ไม่สามารถประกาศบวกราคายางเพิ่มจากราคายางทั่วไปในตลาดให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการได้ เพราะผู้รับซื้อ หรือผู้นำเข้าในประเทศปลายทาง ที่บอกให้สวนยางไทยทำตามมาตรฐาน FSC ไม่มีการประกาศบวกราคาเพิ่มให้กับยาง FSC ทำให้โรงงานแปรรูปในประเทศยังไม่กล้าให้ราคาสูงที่ต่างจากยางพาราทั่วไป
ขณะที่เกษตรกร/ กลุ่มสหกรณ์มีค่าใช้จ่าย และต้นทุนในการทำสวนยาง FSC เพิ่มในหลายเรื่อง ทั้งเรื่องเอกสารสิทธิ์ สังคม สิ่งแวดล้อม และอื่น ๆ ทำให้การขยายพื้นที่ยาง FSC ยังเพิ่มขึ้นได้ไม่มากนัก และยังไม่ให้ FSC มาตรวจรับรองมาตรฐาน เพราะจะยิ่งทำมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
“เขาบอกให้เราทำ และทำให้เรามีต้นทุนและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่คนให้เราทำไม่บอกเลยว่าจะดูแลเราอย่างไรบ้าง หรือจะบวกราคาเพิ่มให้อย่างไรบ้าง เรื่องจึงอยู่ขั้นนี้ ดังนั้นจึงต้องรอลุ้นว่า การที่เราทำดีในส่วนของราคายางจะเพิ่มขึ้นมากขึ้นหรือไม่” นายณกรณ์ กล่าว
จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากรมศุลกากร การส่งออกยางพาราไทยในปี 2566 มีมูลค่า 125,924.07 ล้านบาท ลดลงจากปี 2565 ที่ส่งออก 177,664.64 ล้านบาท หรือลดลง 29% โดยตลาดส่งออกยางพาราไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน มูลค่าส่งออก 48,761.92 ล้านบาท, มาเลเซีย 12,661.11 ล้านบาท, ญี่ปุ่น 11,284.03 ล้านบาท,สหรัฐอเมริกา 11,472.98 ล้านบาท และตุรกี 4,879.13 ล้านบาท
ในส่วนของผลิตภัณฑ์ยาง (ยางล้อรถยนต์ ถุงมือยาง ยางรัดของ และอื่นๆ) มีมูลค่าส่งออก 456,492.21 ล้านบาท ลดลงจากปี 2565 ที่ส่งออกได้ 480,270.65 ล้านบาท หรือลดลง 5% โดยตลาดส่งออก 5 อันดับแรกได้แก่ สหรัฐอเมริกา มูลค่า 146,972.92 ล้านบาท, จีน 98,783.69 ล้านบาท, ญี่ปุ่น 18,864.82 ล้านบาท, เกาหลีใต้ 14,314.18 ล้านบาท และมาเลเซีย 12,892.31 ล้านบาท
ทั้งนี้สินค้าผลิตภัณฑ์ยางเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 4 ของไทยในปี 2566 รองจาก รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ,อัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ถือเป็นสินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศมากที่สุดจากใช้วัตถุดิบยางพาราในประเทศ
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3980 วันที่ 4 – 6 เมษายน พ.ศ. 2567