การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนตามมาตรฐาน FSC (Forest Stewardship Council) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มต่างๆ ทั่วโลก ถือเป็นทิศทางของโลกที่นับจากนี้การทำสวนป่าไม้ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่มีการบุกรุกทำลาย และลดโลกร้อน ซึ่งยางพาราเป็นหนึ่งในสินค้าที่ไทยต้องเร่งดำเนินการผลิตให้ได้ตามมาตรฐาน FSC
รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ที่ปรึกษาบริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) จำกัด เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากที่สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก.ได้มอบหมายให้ตนทำวิจัย “โครงการประเมินมูลค่าต้นทุนการผลิตสวนยางพาราตามมาตรฐาน FSC และการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราอย่างยั่งยืนในภาคใต้ของไทยภายแนวคิด BCG” โดยประเทศไทยมีการพูดถึงการทำสวนยางตามมาตรฐาน FSC หรือสวนยางยั่งยืนและได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2564
ทั้งนี้สวนยาง FSC มีต้นทุนสูงกว่าการทำสวนยางปกติ ทั้งในเรื่องการผลิตที่ห้ามการใช้ยาฆ่าหญ้า และสารกำจัดวัชพืช ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการตัดหญ้า และกำจัดวัชพืชเพิ่ม และยังมีต้นทุนด้านใบรับรอง FSC ขณะที่ในไทยยังไม่มีราคายางพารา FSC ที่ชัดเจน ตลาดรับซื้อยาง FSC ก็ยังไม่ชัดว่ามีจริงหรือไม่ และผู้ซื้อต่างประเทศก็สงสัยว่าประเทศไทยมียาง FSC จริงและได้มาตรฐานจริงหรือไม่
“ปัจจุบันสวนยางทั่วประเทศที่กรีดได้แล้วมีอยู่เกือบ 22 ล้านไร่ (ขึ้นทะเบียนกับ กยท. 18 ล้านไร่) ที่ได้มาตรฐาน FSC แล้วมี 23,158 ไร่ โดย การยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท.ประมาณการว่าสวนยาง FSC ทั้งหมดมี 4 แสนไร่(รวมสวนยางของเอกชน) คิดเป็น 1.8% ของพื้นที่กรีดยางได้ ทั้งนี้สวนยางที่รวมกลุ่มกันทำ FSC ต้องการอย่างน้อย 6 บาทต่อกิโลกรัม โดย 2 บาทเป็นราคายางที่สูงกว่าราคาตลาดทั่วไป และอีก 4 บาท เป็นค่าบริหารจัดการของสหกรณ์ หรือกลุ่มเกษตรกร”
อย่างไรก็ดีจากที่ไทยยังไม่มีความชัดเจนในหลายเรื่อง อาจทำให้ยาง FSC ของไทยสะดุด เกษตรกรอาจเลิกทำ ตนจะทำจดหมายถึงบริษัทผู้ผลิตยางล้อรถยนต์และผลิตภัณฑ์ยางพารารายใหญ่ของโลกที่ต้องการยางพาราจากสวนยาง FSC ให้มาพบกับเกษตรกรของไทย เพื่อให้ผู้ซื้อและผู้ขายได้พบเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลผลผลิต และความต้องการ และทำสัญญาซื้อขายระหว่างกันโดยตรง และตกลงกันว่าจะให้ราคาสูงกว่าราคาปกติกี่บาท เพื่อผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรมต่อไป