จากนโยบายรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ได้มอบหมายให้ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปรับเปลี่ยนนโยบายจ่ายเงินโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 หรือ เงินไร่ละ 1,000 ไม่เกิน 20 ไร่ วงเงินรวม 5.6 หมื่นล้าน มาดำเนินการในรูปแบบ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” (ภาครัฐและเกษตรกรจ่ายคนละครึ่ง) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการซื้อปุ๋ย เพื่อเพิ่มโอกาสและบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเข้าถึงปัจจัยการผลิตให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้
โครงการดังกล่าวจะสนับสนุนค่าปุ๋ยในอัตราปุ๋ยไร่ละ 50 กิโลกรัม ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ (ไม่เกินครัวเรือนละ 1,000 กิโลกรัม) ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่จะปลูกข้าวในปีการผลิต 2567/68 ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ปลูกข้าวกว่า 4.68 ล้านครอบครัว หรือประมาณ 16 ล้านคน โดยใช้จ่ายจากเงินทุนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำรองจ่ายการดำเนินงานตามโครงการฯ 33,422.950 ล้านบาท และงบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปี 2567 จำนวน 108.006 ล้านบาท ซึ่งกรมการข้าวจะจัดทำข้อมูลเพื่อนำเสนอโครงการต่อคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) นั้น
แหล่งข่าวจากวงการค้าปุ๋ย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการพิจารณานโยบายรัฐบาลพ่อค้าไม่ได้ห่วงหรือกลัวว่าจะขายปุ๋ยไม่ได้ แต่เกรงจะมีกระบวนการทำให้เกิดช่องว่างในการทุจริตและเกิดคดีความ คล้ายกับที่เคยกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ในปี 2544 ที่มีเรื่องทุจริตจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยอัยการสูงสุด ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2558 ซึ่งศาลได้ตัดสินอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับเลขานุการ รมว.เกษตรฯ ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีเสนอให้มีการจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์ของกรมส่งเสริมการเกษตร 1.31 แสนตัน วงเงิน 367 ล้านบาท
ทั้งนี้เพื่อนำไปช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยธรรมชาติ ปี 2545 ของกรมส่งเสริมการเกษตร โดยศาลตัดสินให้จำคุกจำเลยทั้ง 2 คนคนละ 6 ปี มองว่ากระบวนการถ้าทำแบบนี้จะซํ้ารอยในอดีต และจะเกิดปัญหาวุ่นวายฟ้องร้องกันไม่จบในกระบวนการจัดซื้อ (กราฟิกประกอบ) ต้องเปิดประมูล ใครได้ราคาตํ่าสุดก็ได้ไป
ด้านนายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า จากที่ได้สอบถามนายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว จะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.)วันที่ 5 เมษายนนี้ จะมีการจัดหาปุ๋ยโดยองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เป็นปุ๋ยราคาพิเศษให้จากศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตกำแพงแสน ได้มีการไปตรวจสอบสูตรปุ๋ยให้กับนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี เรียบร้อยแล้ว เป็นปุ๋ยสูตรใหม่ 2 สูตรนี้ ได้แก่สูตร 20-8-20 เหมาะสำหรับข้าวที่ไวต่อช่วงแสง ให้ผลผลิตสูงสุด 633 กิโลกรัมต่อไร่ และปุ๋ยสูตร 25-7-14 เหมาะสำหรับข้าวไม่ไวต่อช่วงแสงให้ผลผลิตสูงสุด 900 กิโลกรัมต่อไร่ โดยอธิบดีให้เหตุผลว่าต้องเปลี่ยนสูตรใหม่ ไม่ใช่สูตรเดิมที่ชาวนาเคยใช้ เช่น 16-8-8 หรือ 16-20-0 เพราะดินเกษตรกรใช้ปลูกมานานแล้ว เป็นงานวิจัยมาตั้งแต่ปี 2562 ก็จะนำ 2 สูตรนี้เข้า นบข. เพื่อใช้ในโครงการปุ๋ยคนละครึ่งต่อไป
“สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เห็นชอบและเห็นด้วยกับโครงการนี้ แต่ทางสมาคมฯมีข้อห่วงใย และข้อคิดเห็นเพื่อให้ท่านได้โปรดพิจารณาดังนี้ 1.ชาวนาสามารถเลือกสูตรปุ๋ย และยี่ห้อ ตามที่ต้องการได้หรือไม่ ถ้าไม่ สมาคมฯมีความเห็นว่าโครงการนี้จะไม่โดนใจและไม่ตอบโจทย์เกษตรกร รวมถึงไม่เป็นที่ยอมรับของเกษตรกร เพราะเกษตรกรก็ต้องจ่ายค่าปุ๋ยในจำนวนครึ่งที่เหลือ ซึ่งสมาคมฯ เชื่อมั่นว่าน่าจะมีปัญหาตามมาแน่นอน”
อีกทั้งปุ๋ยเคมี และปุ๋ยอินทรีย์ซึ่งเกษตรกรมีความต้องการแตกต่างกัน ค่าดินและลักษณะภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน การตัดสินใจขึ้นอยู่กับเกษตรกร ซึ่งก็เข้าใจดีว่าปุ๋ยทุกสูตร ทุกยี่ห้อก็ผ่านกรมวิชาการเกษตรทุกตัว จึงไม่ควรล็อกสเปก 2.แหล่งกระจายจำหน่ายปุ๋ย ชาวนาเข้าถึง และมีจุดในการรับ เพียงพอหรือไม่ 3.ช่วงเวลาการใช้ปุ๋ย ของชาวนา เหมาะกับระยะเวลา ที่จะใช้หรือไม่ 4.ชาวนาต้องจ่ายเงินออกไปก่อนหรือไม่ 5.มีการป้องกันการ เรียกเก็บหัวคิว ในการจองปุ๋ยหรือไม่ มีแนวทางป้องกันอย่างไร
6.ขั้นตอนการบริหาร ขึ้นทะเบียน และจำหน่ายจ่ายแจก มีความซับซ้อน มีความสะดวกกับชาวนา 4.68 ล้านครัวเรือน หรือไม่ 7.มีการป้องกัน การขายสิทธิ ขายโควตาหรือไม่ มีแนวทางป้องกันอย่างไร และที่สำคัญที่สุดได้มีการประเมินคาดการณ์ว่าชาวนาจำนวน 4.68 ล้านครัวเรือน จะเข้าถึงโครงการ จำนวนมากน้อยแค่ไหน อย่างไร
ข้อกังวลต่าง ๆ เหล่านี้ห่วงโครงการจะเกิดช่องว่างทุจริต ที่สำคัญหากปุ๋ย 2 สูตรนี้ไม่ได้ผลผลิตที่ดี หรือเกิดความเสียหาย นอกจากจะทำให้ชาวนาเสียโอกาส สุดท้ายทัวร์จะไปลงรัฐบาล จะกลายเป็นนํ้าผึ้งหยดเดียวล้มรัฐบาลได้ ดังนั้นแนะนำให้เลียนโมเดลรัฐบาลที่แล้ว ในโครงการคนละครึ่งที่ให้เกษตรกรไปซื้อหาปุ๋ยได้ที่ร้านใกล้บ้าน ชาวนาเลือกซื้อยี่ห้อใด สูตรไหนก็ได้ ให้รับผิดชอบกันเอง ได้ไม่เป็นภาระรัฐบาล