นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ ที่ปรึกษาสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2567 ได้มีหน่วยงานภาครัฐได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีสมาคมโรงสีข้าวไทย (ส่งผู้แทน) สมาคมโรงสีภาคอีสาน (ส่งผู้แทน) ผู้ส่งออก และผู้ประกอบการค้าข้าวถุง มาช่วยกันพิจารณา วิเคราะห์ และดูสภาพข้าวตามกายภาพ ของข้าวสองคลังนี้ที่เก็บมาถึง 10 ปี
“ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้รับเชิญเข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ ซึ่งในตอนแรกก็ไม่ได้สนใจ แต่ด้วยความสงสัยว่าข้าวที่้เก็บไว้เป็น 10 ปี จะมีลักษณะเป็นอย่างไร เลยตัดสินใจเดินทางขึ้นไปดูที่จังหวัดสุรินทร์ ประเด็นคือ เฉพาะข้าวในสองคลังนี้ คือคลังกิตติชัย หลัง2 และ คลัง บจก.พูนผลเทรดดิ้ง หลัง4 ซึ่งผ่านการเก็บมา 10 ปีแล้ว กินได้หรือไม่ ?”
นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ตามความเห็นส่วนตัวผม และความเห็นส่วนหนึ่งจากการพูดคุยกับผู้ประกอบการหลายท่านที่ไปร่วมสังเกตการณ์ด้วย ต่างได้ให้ความเห็นจากที่เห็นข้าวตามกายภาพ ตามตัวอย่าง ว่าทั้งสองคลังนี้เก็บข้าวได้ดี สภาพคลังไม่มีความอับชื้น ไม่มีกลิ่นอับเหม็น เหม็นเปรี้ยว กองข้าวอยู่ในลักษณะที่ดี ไม่ล้ม เท่าที่มองดูด้วยสายตา ข้าวดูไม่มีลักษณะความเสียหายจากการถูกทำลายด้วยแมลง จนเป็นฝุ่นผง เมล็ดข้าวยังดูดี
ส่วนเรื่องสีของข้าว คือมีสีเหลืองไพล (เหลืองงา) ออกสีเหลืองเสมอกัน ตามสภาพข้าวที่เก็บมา 10 ปี เมล็ดเหลืองเข้ม เหลืองโดดก็มีบ้าง แต่ด้วยสายตาที่เห็นตามตัวอย่างถือว่าไม่มากนัก เมื่อนำมาหุงแล้วไม่มีกลิ่นอับเหม็นเปรี้ยว กลิ่นมีลักษณะออกมาทางข้าวเก็บเก่าโดยทั่วไปตามอายุข้าวที่เก็บมานาน ชิมแล้วก็ถือว่าข้าวนี้ยังมีความนุ่มมียางอยู่บ้าง แต่ถ้านำมาเทียบเคียงกับข้าวใหม่ ก็จะมีความแตกต่างกัน ซึ่งไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้
นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า เท่าที่เห็นมีการซาวข้าวหลายครั้ง เนื่องจากเป็นการเอาข้าวออกมาจากคลังโดยตรง จึงจำเป็นต้องซาวหลายครั้ง ซึ่งจะต่างจากข้าวที่ผ่านขบวนการปรับปรุงแล้ว สรุปโดยรวม ตามกายภาพ ตามสภาพที่เห็นตามตัวอย่าง และที่ได้กินดู ถือว่าเก็บข้าวได้ดี แต่ทั้งนี้หากข้าวทั้งสองคลังนี้ มีการประมูล มีผู้ซื้อๆจากคลังไป ก่อนที่จะจำหน่าย ผู้ประกอบการเขาจะต้องนำมาผ่านกระบวนการ ปรับปรุง ทำความสะอาด นำมาขัดใหม่ แล้วคัดแยก คงไม่ได้เอาออกขายแบบดิบๆ หรือไปขายโดยไม่ปรับปรุง
อย่างไรก็ดีสินค้าข้าว แต่ละชนิด และคุณภาพ ต่างก็มีตลาดรองรับ ทั้งในเรื่องราคา และคุณภาพ ตาม สภาวะกำลังซื้อและเศรษฐกิจของผู้ต้องการใช้ข้าว ข้าวในตลาดจึงมีทั้งราคาถูก ราคาแพง ตามกำลังเงิน ตามรสนิยม และตามคุณภาพที่หลากหลายโดยปกติแล้ว การส่งออกจะยึดตามมาตรฐานกระทรวงพาณิชย์ หรือการขายสินค้าตามตัวอย่าง ระหว่างผู้ซื้อผู้ขายตกลงกันนอกจากนี้แต่ละประเทศที่นำเข้าข้าว เขาก็มีมาตรฐานของเขา และที่ผ่านมาข้าวที่ถูกประมูลจากคลัง ก็มีการนำไปปรับปรุง และจำหน่ายในตลาดทั้งภายใน และต่างประเทศมาโดยตลอด ผู้ประกอบการแต่ละรายเขาก็มีกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องข้าวแต่ละชนิดแตกต่างกันไป ตามคุณภาพ ตามราคา ที่ผู้ซื้อแต่ละราย แต่ละประเทศต้องการ โดยเฉพาะ ตลาดแอฟริกา