ข้าว 10 ปีกินได้?

08 พ.ค. 2567 | 07:33 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ค. 2567 | 07:36 น.

ข้าว 10 ปีกินได้? : บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3990

รัฐบาลเตรียมนำข้าวจากโครงการรับจำนำข้าว ตั้งแต่ปี 2556/57 จาก 2 โกดังสุดท้าย ออกประมูลในเดือนพฤษภาคมนี้

กำหนดราคากลางอยู่ที่ 18 บาทต่อกก. รวมเบ็ดเสร็จราว 1.5 แสนกระสอบ หากคำนวนคร่าวๆ จะมีเงินเข้ารัฐราว 200–400 ล้านบาท หากหักค่าเช่าที่ (ค้างค่าเช่าโกดังนาน 10 ปี) และค่าใช้จ่ายอื่นๆ คืนเข้ารัฐก็คงเหลือเงินอยู่ราวครึ่งหนึ่ง

เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้เข้าร่วมประมูล และโต้ประเด็นข่าวเรื่อง “ข้าวเน่า” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ “ภูมิธรรม เวชยชัย” ออกตัวเป็นพรีเซนเตอร์ กินข้าวโชว์ เพื่อการันตีว่า ข้าวนี้กินได้ และนี่คือ คำตอบ “มีความหวาน กลิ่นหอมอาจจะอ่อนไปนิด แต่ความนุ่มนวลใช้ได้”

รัฐมนตรีฯ บอกว่า “กินได้” แถมเชิญชวนทุกคนกิน  แต่ถามว่า “คนไทย” จะเชื่อใครดี

เพราะเมื่อถาม “รศ.ดร.สมพร อิศวิลานนท์” นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าว กลับบอกว่า “เร็วเกินไปที่จะบอกว่า กินได้ เพราะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค หรือ food security ด้วย”

ปกติแล้วข้าวหอมมะลิจะเก็บได้ประมาณ 3-4 ปี โดยข้าวเก่าจะมีราคาสูงกว่าข้าวใหม่ แต่ในกรณีข้าวที่ถูกเก็บไว้เป็น 10 ปี การรมควันกันมอด และรักษาความชื้นทำให้สีของข้าวสารมีความเหลืองมากขึ้น ขณะที่การเก็บข้าวสาร มีความยากมากกว่าการเก็บข้าวเปลือก เพราะหากรักษาความชื้นไม่ได้ การรมควันไม่ดี จะทำให้เกิดเชื้อรา aflatoxin

หากจะนำมาบริโภคต้องมีการตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจหาเชื้อรา aflatoxin และต้องคำนึงถึงสารเคมี ที่อาจตกค้างจากการรมยาป้องกันมอด ทุกๆ 4-6 เดือน การสุ่มตรวจก็จำเป็นต้องตรวจทั้งข้าวหน้ากอง ข้าวกลางกอง ข้าวก้นกอง ข้าวหลังกอง เพราะอาจมีคุณภาพที่แตกต่างกัน

ที่สำคัญ หากผู้ประมูลนำข้าวเหล่านี้ที่มีคุณภาพไม่ดี ไปผสมปนกับข้าวคุณภาพดี นำไปวางขาย หรือ ส่งออก ก็เท่ากับทำลายตลาด โดยเฉพาะการส่งออกข้าวหอมมะลิ ที่ไทยอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก และยังส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคอีกด้วย

สาเหตุของการขุดคุ้ย “ข้าว” ในโครงการรับจำนำข้าว ออกมาประมูลขาย คงไม่ใช่เพียงต้องการหาเงินเข้ากระเป๋ารัฐ แต่จะเป็นการฟอกขาวให้ใคร หรือ ถางทางให้ใคร ก็ไม่ควรเอาชื่อเสียงประเทศ หรือชีวิตของใครมาเสี่ยง…