นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตร ได้บูรณาการชุดเฉพาะกิจ พญานาคราช กรมศุลกากร และหน่วยงานความมั่นคง จับทุเรียนสดลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ป้องกันสวมสิทธิ์ส่งออก
อันเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้ประกาศสงครามกับสินค้าการเกษตรที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นการรักษาเสถียรภาพ ราคาสินค้าเกษตร และยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรไทยเพื่อการส่งออก และการบริโภคภายในประเทศ
รวมถึงประกาศนโยบายการส่งออกทุเรียนในฤดูกาลภาคตะวันออก ประจำปี 2567 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุเรียนต้องผ่านการควบคุมคุณภาพ ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทั้งผลผลิตในระดับสวน จนถึงการคัดบรรจุ เพื่อจำหน่ายในตลาดในประเทศและต่างประเทศ และมีมาตรการเข้มข้นในการป้องกัน
การปราบปราบการลักลอบการนำเข้าทุเรียนสดจากต่างประเทศ มาคัดบรรจุแอบอ้างเป็นชื่อทุเรียนไทยเพื่อการส่งออก ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดตั้งชุด ฉก พญานาคราช พร้อมบูรณาการกับหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนจันทบุรี มิให้มีผลกระทบต่อระบบการผลิตภาคการเกษตรของประเทศไทย
ล่าสุดอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวต่อว่า ได้รับรายงานจากด่านตรวจพืชอรัญประเทศ ว่าตำรวจกก.สส.ภ.จว.สระแก้ว (ชป.3) ร่วมกับ ชุดสืบสวน สภ.โคกสูง ด่านศุลกากรอรัญประเทศชปข.2 กกล.บูรพาเจ้าหน้าที่ทหาร ชุด ชปข.ทภ.1 ได้จับกุมการลักลอบนำเข้าทุเรียนสดจากประเทศเพื่อนบ้าน บริเวณ ต.หนองแวง อ.โคกสูง จ.สระแก้ว จึงได้ดำเนินการยึดสินค้า และแจ้งข้อกล่าวหานำเข้าสินค้าพืชไม่ผ่านพิธีศุลกากร และไม่ขออนุญาตนำเข้าจากด่านตรวจพืชกรมวิชาการเกษตร จำนวน 1,780 ผล คิดเป็นนำหนักทั้งหมด 5,049 กิโลกรัม
โดย บรรทุกมาในรถกระบะ (มีคอก) จำนวน 2 คัน ซึ่งผลทุเรียนสด เป็นสิ่งไม่ต้องห้าม ตาม พ.ร.บ. กักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม การนำเข้าต้องแจ้งการนำเข้า ณ ด่านตรวจพืช ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืช จากประเทศส่งออกเพื่อยืนยันการปลอดโรค และแมลงศัตรูพืช การลักลอบนำเข้าทุเรียนส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรภายในประเทศ และอาจนำพาศัตรูพืชต่างถิ่นเข้ามาระบาด
สร้างความเสียหายต่อภาคการผลิตของเกษตรกรตลอดจนอาจนำมาสวมสิทธิ์ส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ ทุเรียนส่งออกไทย ปัจจุบันปริมาณการส่งออกทุเรียนสดไปจีนแล้วจำนวน 430,000 ตัน มูลค่า 56,500 ล้านบาท
กรมวิชาการเกษตร จึงได้กำกับดูแลการตรวจติดตามโรงงานผลิตสินค้าพืช ให้ได้มาตรฐาน มีการตรวจสอบคุณภาพผลผลิต และการรับรองสุขอนามัยพืช ตามเงื่อนไขในพิธีสารส่งออกไปจีน สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าเป็นผลไม้ที่มีคุณภาพมาจากสวน และมีการคัดบรรจุตามมาตรฐานโรงคัดบรรจุผลไม้สด
ตลอดจนป้องกันปัญหาผลผลิตด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด มีการควบคุมคุณภาพทุเรียนส่งออกไปจีนตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ตั้งแต่การกำหนดนโยบายในระดับ สวน โรงคัดบรรจุ การส่งออก การขนส่ง การตลาด การแปรรูป และการเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการ
พร้อมบูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนตามแผนปฏิบัติการ (Action plan) เชื่อมโยงกับ “จันทบุรีโมเดล” โดยให้ร่วมกันผนึกกำลังทุกหน่วยงานบูรณาการภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรฯ หน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช และให้กรมวิชาการเกษตรมีหน้าที่ตรวจสอบทุเรียนในโรงคัดบรรจุก่อนปิดตู้คอนเทนเนอร์ส่งไปตลาดต่างประเทศ รวมทั้งให้ปรับปรุงการตรวจสอบมาตรฐาน GAP และ GMP และแจ้งให้ทางการจีนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง
ทำให้เกิดการควบคุมคุณภาพทุเรียนส่งออกไปจีนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ให้มีความปลอดภัย คุณภาพสูง ตามนโยบายของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก่อนส่งออกไปยังปลายทางประเทศจีน