14 วิทยาลัยเกษตรฯ ร้องระงม หลุดโควตานมโรงเรียน รอบ 32 ปี

05 มิ.ย. 2567 | 05:43 น.
อัพเดตล่าสุด :05 มิ.ย. 2567 | 05:43 น.

“นมโรงเรียน” ปี 67 ยังวุ่น 14 วิทยาลัยเกษตรฯ ร้องระงม หลุดโควตานมโรงเรียน งบ 1.4 หมื่นล้าน ครั้งแรกในรอบ 32 ปี หลังติดบ่วงคุณสมบัติ ไม่สามารถเข้าร่วมได้ จากเป็นฟาร์มโคนมขนาดเล็ก และใช้ในการเรียนการสอน และจัดฝึกอบรมเท่านั้น

ตามประกาศของคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567  ข้อ 5.11 ความว่า ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่เป็นสหกรณ์/ส่วนราชการ ต้องมีศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบและโคนมเป็นของตนเอง โดยมีแม่โครีดนมไม่น้อยกว่า 200 แม่ หรือมีโคนมที่สามารถผลิตปริมาณน้ำนมดิบไม่น้อยกว่า 3 ตันต่อวัน ส่งผลกระทบให้ 14 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีที่เข้าร่วมโครงการมาตั้งแต่ปี 2535 ถึงปัจจุบัน 32 ปี ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 ได้

14 วิทยาลัยเกษตรฯ ร้องระงม หลุดโควตานมโรงเรียน รอบ 32 ปี

แหล่งข่าวจากกระทรวงศึกษาธิการ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทางกระทรวง ได้รับการร้องเรียนจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี จำนวน 14 แห่ง ได้แก่ 1.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงราย 2.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกำแพงเพชร 3.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุทัยธานี 4.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น 5.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสระแก้ว 6.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเพชรบุรี 7.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตาก

8.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย 9.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลพบุรี 10.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์ 11.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครสวรรค์ 12. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ 13.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี และ 14.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด  เนื่องจากเป็นส่วนราชการที่มีแม่โคนมรีดได้ไม่ถึง 200 ตัวและมีปริมาณการผลิตน้ำนมดิบไม่ถึง 3 ตันต่อวัน จึงทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 ได้

14 วิทยาลัยเกษตรฯ ร้องระงม หลุดโควตานมโรงเรียน รอบ 32 ปี

ผลต่อเนื่องตามมาจากที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการฯได้ ทำให้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี 14 แห่ง ต้องทำให้เลิกจ้างพนักงานซึ่งเป็นคนในชุมชุนกว่า 80 คน ขาดรายได้บำรุงการศึกษาไม่น้อยกว่า 14 ล้านบาท/ปี และน้ำนมดิบที่เคยซื้อจากแหล่งน้ำนมดิบเหลือในระบบไม่น้อยกว่า 40 ตันต่อวัน รวม 14,600 ตันต่อปี หรือ กว่า 361 ล้านบาทต่อปี และที่สำคัญขาดแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา จากโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย เกษตรกร และประชาชนที่สนใจ

ดังนั้นจึงขอให้ยกเลิกหลักเกณฑ์ตามข้อ 5.11 โดยกำหนดให้โรงงานผลิตภัณฑ์นมขนาดเล็กของราชการ สังกัดสำนักงาน คณะกรรมการาอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการมีสิทธิในการรับโควตาผลิตและจำหน่ายอาหารเสริม (นม) โรงเรียน โดยไม่จำเป็นต้องมีแม่โครีดนม 200 แม่ หรือผลิตน้ำนมดิบได้เอง และสามารถรับซื้อน้ำนมดิบจากศูนย์รับน้ำนมดิบจากภาคเอกชน และสหกรณ์ต่าง ๆ เช่นเดิม เป็นมาตรฐานเดียวกับภาคเอกชน

 

14 วิทยาลัยเกษตรฯ ร้องระงม หลุดโควตานมโรงเรียน รอบ 32 ปี

 

นอกจากนี้ต้องการให้กำหนดปริมาณน้ำนมมดิบเพื่อแยกส่วนออกมาให้แก่กลุ่มวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ด้านการจัดการของกระทรวงศึกษาธิการ ร้อยละ 5 ของปริมาณน้ำนมดิบทั้งหมดในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนในทุกปีการศึกษา โดยให้สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษาเป็นนิติบุคคลที่ดูแลและจัดสรรโควตาในส่วนนี้เองตั้งแต่ปีการศึกษา 2567 นี้เป็นต้นไป

 

อนึ่ง โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน เป็นโครงการที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้น ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2535 เพื่อแก้ปัญหาการขาดสารอาหารและภาวะทุพโภชนาการ(Malnutrition) เป็น สภาวะของร่างกายที่เกิดจากการได้รับอาหารที่ไม่ครบถ้วน หรือมีปริมาณ ที่ไม่เหมาะกับความต้องการของร่างกาย หรืออาจเกิดจากที่ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วน ในเด็ก ซึ่ง FAO ได้แนะนำให้เด็กได้ดื่มนม เพราะมีคุณค่าทางโภชนาการสูง อันจะส่งผลต่อพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของเด็กเป็นไปอย่างเต็มศักยภาพ

14 วิทยาลัยเกษตรฯ ร้องระงม หลุดโควตานมโรงเรียน รอบ 32 ปี

ประกอบกับระยะเวลาดังกล่าวรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการเลี้ยงโคนมของเกษตรกร ตลอดจนการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมให้สามารถขายน้ำนมดิบได้ จึงส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กนักเรียนได้ดื่มนมอย่างจริงจัง โดยการดำเนินการระยะแรก ปี 2535-2543 มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.)เป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อเฉพาะโรงเรียนในสังกัด จากนั้นก็ได้มีการทบทวนโครงการมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน