ปิดรับสมัครผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมเข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 ไปเรียบร้อยแล้ว โดยผู้ประกอบการต้องยื่นเอกสารขอสมัครเข้าร่วมโครงการได้ตามพื้นที่ 5 กลุ่ม ได้แก่กลุ่มพื้นที่ 1 (เขตปศุสัตว์ที่ 1 ) กลุ่มพื้นที่ 2 (เขตปศุสัตว์ที่ 2 และ 3) กลุ่มพื้นที่ 3 (เขตปศุสัตว์ที่ 4) เขตกลุ่มพื้นที่ 4 (เขตปศุสัตว์ที่ 5 และ 6 ) และกลุ่มพื้นที่ 5 (เขตปศุสัตว์ที่ 7,8,9) โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานในที่ประชุม และเริ่มมีการจัดสรรสิทธิ์พื้นที่จำหน่ายเป็นพื้นที่แล้วในพื้นที่กลุ่มที่ 1 ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ยังไม่สรุปวันที่จะประชุม
แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการในโครงการนมโรงเรียน เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 คณะทำงานพิจารณาจัดสรรสิทธิและพื้นที่จำหน่ายนมโรงเรียน กลุ่มพื้นที่ 1ซึ่งมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธานการประชุม ได้มีมติให้ชะลอการจัดสรรสิทธิและพื้นที่จำหน่ายนมของกลุ่มที่ 1 ไปก่อน จนกว่าจะได้รับความชัดเจนจากคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน กรณีการใช้ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ปีการศึกษา 2567 ข้อ 6.3.2
ทั้งนี้เนื่องจากได้มีผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนและศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบลงชื่อคัดค้านและให้ชะลอการจัดสรรสิทธิ รวม 8 ราย ได้แก่ 1.สหกรณ์โคนมมวกเหล็ก จำกัด 2.บริษัท คลองไทร แดรี่ จำกัด (บจก.)3.บจก.ราชาแดรี่ โปรดักส์ 4.บจก. พญาเย็น แดรี่ (ลพบุรี) 5.บจก. ส่งเสริมผลิตภัณฑ์นม 6.บจก. กลุ่มโคนมคลองม่วงเหนือ 7.บจก. กลุ่มพัฒนาโคนมซับสนุ่น และ 8. บจก.กลุ่มพัฒนาโคนมพัฒนานิคม
“การทักท้วงครั้งนี้เนื่องจากข้อมูลการตรวจน้ำนมดิบที่ฟาร์ม โดยคณะทำงานตรวจสอบน้ำนมโคระดับจังหวัดมีข้อมูลไม่ตรงกับข้อมูลการตรวจน้ำนมดิบที่หน้าศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบของคณะทำงานตรวจสอบปริมาณน้ำนมดิบ ณ ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ ทำให้ผู้ประกอบการเสียสิทธิและโอกาสในการยื่นสิทธิเข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้ในเขตพื้นที่ และอื่นๆ อาทิ สิทธิบางเขตเหลือเยอะมากหลักแสนกล่อง เพราะมีกันพื้นที่ไว้ให้สหกรณ์พื้นที่เขตอื่นเข้ามารับส่งแทน ทั้งที่ยังมีบริษัท-สหกรณ์ ในพื้นที่สามารถส่งแทนได้ในพื้นที่เดียวกันแต่ก็ไม่ให้สิทธิ”
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการและคณะทำงานตรวจสอบปริมาณน้ำนมโคทั้งระบบ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีคำสั่งที่ 344/2567 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานตรวจสอบปริมาณน้ำนมโคทั้งระบบ ลงวันที่ 21 มีนาคม 2567 และคำสั่งที่ 345/2567 เรื่องแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบปริมาณน้ำนมโคระดับจังหวัดลงวันที่ 21 มีนาคม 2567 มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบปริมาณน้ำนมดิบ ณ ฟาร์มและศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบทั่วประเทศ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการบริหารจัดการนมทั้งระบบ
ทั้งนี้ได้มีการประชุมไปเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการสมัครเข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน โดยแต่ละศูนย์นม สหกรณ์ เอกชน ก็รับทราบ และคาดว่าจะใช้ตัวเลขนี้ในการใช้เป็นฐานข้อมูลในการจัดโควตา แต่ปรากฏว่า เป็นคนละชุดกันกับที่ปศุสัตว์จังหวัดสระบุรีใช้ เลยทำให้เกิดความวุ่นวาย ซึ่งปัญหาดังกล่าวอาจจะมีส่วนที่ทำให้ข้อมูลที่ตรวจทำให้บางคนได้เปรียบเสียเปรียบกันในเรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับส่วนกลางจะชี้ขาดว่าจะให้ปฏิบัติอย่างไร
นายวสันต์ จีนหลง นายกสมาคมผู้ผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ กล่าวว่า ปัญหาสำคัญหลักเกณฑ์การรับสมัครนมโรงเรียนไม่ตรงกับที่เปิดรับฟังความคิดเห็นเลย ประกอบกับมีความเร่งรีบของการประกาศเพื่อให้เด็กได้ดื่มนมทันในช่วงเปิดเทอมที่จะถึงนี้ ทำให้ตัวเลขปริมาณน้ำนมดิบดิบจากคณะกรรมการฯ ไม่ตรงกับปริมาณน้ำนมดิบที่กรมปศุสัตว์ตรวจทุกเดือน ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่แน่ใจว่า การจัดโควตาจะใช้ตัวเลขใด แต่โดยหลักการกฎระเบียบที่ออกมาจะต้องปฏิบัติได้ทุกคน และทำให้เด็กนักเรียน –เกษตรกร ได้ประโยชน์สูงสุด ไม่เอื้อให้กับรายใดรายหนึ่ง
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,991 วันที่ 12-15 พฤษภาคม พ.ศ. 2567