สหกรณ์นม โอดขาดทุนวันละ 4 ล้าน จี้ชง ครม.ปรับราคากลางนมโรงเรียน

19 ก.พ. 2567 | 10:54 น.
อัพเดตล่าสุด :19 ก.พ. 2567 | 10:54 น.

นํ้านมดิบในประเทศขาดหนัก “มิลค์บอร์ด” ไฟเขียว “เนสท์เล่” นำเข้านมปรุงแต่งจากเวียดนาม เป็นบริษัทแรก ขณะ“นมโรงเรียน” เอกชน-สหกรณ์ 85 โรง ร้องระงม หลัง 8 ม.ค. 67 ราคานํ้านมดิบปรับขึ้น 2.50 บาท/กก. แต่ราคากลางไม่ปรับขึ้น โอดขาดทุนวันละ กว่า 4 ล้านบาท ร้องรัฐมนตรีชง ครม.ด่วน

ปัจจุบันการเลี้ยงโคนมกำลังประสบปัญหาต้นทุนการผลิตมีราคาสูง จากราคาอาหารข้นหรืออาหารหยาบที่สูง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก กระทบต่อเนื่องถึงภาคการเกษตรในวงกว้าง หรือโรคระบาดในสัตว์ที่ทำให้โคนมไม่สามารถผลิตนํ้านมได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกษตรกรโคนมเลิกกิจการไปเป็นจำนวนมาก

ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2567 คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) มีมติเห็นชอบให้ปรับราคารับซื้อนํ้านมโค ณ หน้าโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมจากเดิมกิโลกรัม (กก.)ละ 20.25 บาท เป็น กก.ละ 22.75 บาท มีผลทันที

สหกรณ์นม โอดขาดทุนวันละ 4 ล้าน จี้ชง ครม.ปรับราคากลางนมโรงเรียน

แหล่งข่าวจากมิลค์บอร์ด เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากปัญหาการขาดแคลนนํ้านมดิบในประเทศทำให้ความต้องการนมผงสูงมาก ในปี 2567 กรมการค้าต่างประเทศ ได้รายงานผลการจัดสรรปริมาณการนำเข้าในโควตาสินค้านมและครีม และนมผงขาดมันเนย ตามกรอบความตกลงองค์การการค้าโลก(WTO)แล้ว ทั้งสิ้น 4.9 หมื่นตัน ให้กับผู้มีสิทธิขอรับการจัดสรร 78 ราย โดย 3 อันดับแรกสูงสุด ได้แก่ บจก.ซีพี-เมจิ ได้รับการจัดสรร 1 หมื่นตัน รองลงมา บจก. ดัชมิลล์ 6,460 ตัน และ บจม.ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) 5,790 ตัน

 

สหกรณ์นม โอดขาดทุนวันละ 4 ล้าน จี้ชง ครม.ปรับราคากลางนมโรงเรียน

นอกจากนี้ในมิลค์บอร์ดยังมีการวางหลักเกณฑ์เตรียมพร้อมรับมือการเปิดเสรี FTA ไทย-ออสเตรเลีย และ FTAไทย-นิวซีแลนด์ ที่จะยกเลิกโควตาภาษีตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2568 จะใช้หลักเกณฑ์โมเดลการนำเข้า “มะพร้าว” โดยกำหนดช่วงระยะเวลาการนำเข้า พิจารณาจากประวัติย้อนหลังของแต่ละบริษัท ยกตัวอย่าง บริษัท ขอนำเข้า 5,000 ตัน แต่นำเข้าไม่หมด อาจจะพิจารณาให้นำเข้าตามจริงในปีนั้น ๆ เป็นต้น หรือถ้าในประเทศนํ้านมดิบล้น ก็อาจจะให้ชะลอการนำเข้า อย่างไรก็ดีในที่ประชุมยังได้เห็นชอบให้ บจก. เนสท์เล่ (ไทย) นำเข้านมปรุงแต่งจากโรงงานเวียดนาม ภายใต้กรอบอาฟต้า นับเป็นรายแรกที่มีการอนุญาตให้นำเข้า

 

สหกรณ์นม โอดขาดทุนวันละ 4 ล้าน จี้ชง ครม.ปรับราคากลางนมโรงเรียน

ด้าน นายวสันต์ จีนหลง นายกสมาคมผู้ผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ กล่าวถึง ผลกระทบจากการปรับราคานํ้านมดิบที่มีผลตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. เป็นต้นมา ทำให้ผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมที่เข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ทั้งสหกรณ์-บริษัท จำนวน 85 โรง มีต้นทุนในการผลิตนมโรงเรียนเพิ่มสูงขึ้นทันที ทั้งชนิดถุงพาสเจอร์ไรซ์และชนิดกล่องยู.เอช.ที เพิ่มขึ้น 0.61 บาท ต่อถุง/กล่อง ซึ่งหากมีการปรับราคากลางนมโรงเรียนตามต้นทุนนํ้านมดิบใหม่จะเป็นดังนี้ นมพาสเจอร์ไรซ์ 7.50 บาท/ถุง และ นมยู.เอช.ที 8.74 บาท/กล่อง (กราฟิกประกอบ)

 

นายวสันต์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันนับตั้งแต่ราคากลางใหม่ที่ปรับขึ้นมาทำให้ต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้นวันละ 4.03 ล้านบาท (คำนวณจากจำนวนเด็ก 6,609,041 คน คูณ 0.61) ซึ่งทางผู้ประกอบการได้เข้าพบ นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กำกับดูแลกรมปศุสัตว์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เพื่อเร่งรัดให้มีการนำเรื่องการปรับขึ้นราคากลางนมโรงเรียนเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบจากเวลานี้ราคาไม่สอดคล้องกับต้นทุน

สหกรณ์นม โอดขาดทุนวันละ 4 ล้าน จี้ชง ครม.ปรับราคากลางนมโรงเรียน

ด้านนายสมพงษ์ ภูพานเพชร ประธานชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนเป็นเกษตรกรมีอาชีพเลี้ยงโคนม ขายนํ้านมดิบให้กับเอกชน ไม่ได้เข้าร่วมโครงการนมโรงเรียน แต่ได้รับอานิสงส์จากการที่รัฐบาลปรับราคานํ้านมดิบให้เกษตรกรโคนมทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น และหากบวกค่าพรีเมียมราคานํ้านมดิบจะได้สูงสุดถึง 24 บาท/กก.