เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ได้ทำหนังสือถืงอธิบดีกรมการค้าภายใน เรื่องการสนับสนุนผู้ผลิตอาหารสัตว์ในการช่วยลดปัญหา PM 2.5 ลงได้ โดยเฉพาะเขตภาคเหนือ ซึ่งหากดำเนินมาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่จะใช้ในการผลิตอาหารลดลง จาก 2 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.จำนวนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีการเผาแปลงจะต้องหยุดรับซื้อ ซึ่งหากมีแปลงข้าวโพดที่เผาอยู่ประมาณ 10-20% ของพื้นที่ปลูก จะมีปริมาณข้าวโพดที่ไม่สามารถซื้อได้ จำนวน 5 แสนตัน- 1 ล้านตัน 2. ปริมาณการนำเข้าโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านจะลดลงหรือนำเข้าไม่ได้ ทำให้ปริมาณการนำเข้าเฉลี่ยปีละ 1.5 ล้านตันหายไป หากรวมทั้ง 2 ส่วนนนี้คาดว่าจะมีปริมาณข้าวโพดที่ซื้อไม่ได้ประมาณ 2-2.5 ล้านตัน ดังนั้นจึงเห็นว่าควรปลดล็อคมาตรการนำเข้าข้าวสาลี 3:1 และการยกเลิกโควตานำเข้าข้าวโพดภายใต้กรอบ WTO เพื่อให้มีปริมาณจากแหล่งอื่นมาเติมเต็มส่วนที่หายไป
นอกจากนี้ได้รับข้อร้องเรียนจากสมาชิกสมาคมฯ ถึงความยากลำบากในการหาซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่มีการกักตุนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อเรียกร้องราคาขยับสูงขึ้นเพื่อเก็งกำไร จึงต้องร้องขอความช่วยเหลือด่วนที่สุดไปยังกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ให้เข้ามากำกับดูแล ซึ่งราคาข้าวโพดที่ขยับขึ้นแค่ กก.ละะ 1 บาท คิดเป็นเม็ดเงินที่โรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นถึง 5,000 ล้านบาท และจะเป็นภาระด้านต้นทุนของเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ สถานการณ์เช่นนี้จะกลับไปใกล้เคียงกับเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาหรืออาจเลวร้ายยิ่งกว่า ส่งผลให้เวลานี้ธุรกิจอาหารสัตว์ขาดทุนสะสมและมีการปิดโรงงานและขายกิจการไปแล้วหลายแห่ง ขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ก็ขาดทุนและเลิกเลี้ยงกันไปจำนวนมาก
ต่อกรณีดังกล่าวนี้ นายเทอดศักดิ์ ลาภจิตรกุศล นายกสมาคมการค้าพืชไร่เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ตามที่ รัฐบาลมีนโยบายแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5ซึ่งเป็นวิธีการเผาแปลปลูกข้าวโพดฯ ถูกอ้างว่าเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้เกิด PM 2.5 ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งความเป็นจริง ปัจจุบันการเผาแปลงเพื่อทำข้าวโพดฯ ลดลงมากจากมาตรการทางกฎหมายที่ภาครัฐบังคับใช้ และปัญหาหมอกควัน PM2.5 ที่เกิดจากไฟป่าทางภาคเหนือ การใช้รถยนต์ และโรงงานอุตสาหกรรมมีสัดส่วนไม่น้อยกว่าในปัจจุบัน
แต่กลับมีการสร้างเงื่อนไขในการรับซื้อผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีอยู่แล้วจากเดิมให้มีมากขึ้น หากปรารถนาดีต่อสังคม ควรร่วมกันสนับสนุนหาทางออกในการปรับเปลี่ยนวิธีการกำจัดเศษซากตอซังในแปลง เช่นการปลูกโดยไม่ไถ การปลูกแบบไถแถวเว้นแถว และการกำจัดเศษซากต่อซังด้วยวิธีทางชีวภาพ ไม่ควรปล่อยให้กลุ่มผลประโยชน์มาตั้งเงื่อนไขข้ออ้างจาก PM2.5 มาสร้างข้อจำกัดทางการค้าเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจและการเรียกร้องขอยกเลิกมาตรการ 3:1 ของตนเพียงอย่างเดียว จากข้อมูลปีที่แล้วแปลงนาในรัฐอาคันซอ สหรัฐอเมริกามีการเผากว่า 40% รองลงมาเป็นแปลงข้าวโพด และอื่น ๆ แต่ก็มีการนำเข้ากากข้าวโพดฯ DDGSและกากถั่วเหลืองจากอเมริกา แทนที่จะสร้างข้อจำกัดเพียงอย่างเดียว ควรร่วมกันหาทางออกที่ดีให้กับเกษตรกรไทยจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นไทยมากกว่า
นอกจากนี้จากสถานการณ์ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เบอร์ 2 อ้างอิงพื้นที่รับซื้อบางนา ขึ้นมาจากราคาลงมาต่ำสุดเมื่อวันที่ 23/4/2567 10.2 บาท/ก.ก.(เทียบราคาชิคาโก 4.525 USD/Bu และขึ้นมาอย่างรวดเร็วอยู่ระดับสูงถึง 11.30 บาท/ก.ก. (เทียบราคาชิคาโก 4.4545USD/Bu) โดยใช้เวลา 1 เดือนเท่านั้น แล้วมีการกล่าวอ้างว่าในช่วงเวลาดังกล่างข้าวโพดฯ ไม่อยู่ในมือเกษตรกรแล้ว และกล่าวโทษพ่อค้าคนกลางว่ากักตุนเก็งกำไร ไม่มีการขายของเข้าสู่โรงงานอาหารสัตว์ เป็นการให้ร้ายพ่อค้าคนกลางเพื่อผลประโยชน์ในการเรียกร้องของกลุ่มตน ทั้งที่ผู้ที่มีอำนาจกำหนดกลไกทางการค้าคือผู้ซื้อใช้ และบริษัทที่นายกสมาคมบางแห่งเป็นตัวแทนมาอยู่ในสมาคมก็มีอำนาจในการชี้นำราคาข้าวโพดในตลาดรับซื้อ ดูได้จากการเคลื่อนไหวราคา
ขอชี้แจง เป็นประเด็นดังนี้
1.พ่อค้ากลัวจึงเทขายในช่วงฤดูกาลออกไปเป็นจำนวนมาก (ทางการสามารถตรวจเช็คปริมาณรับซื้อของแต่ละโรงงานช่วงฤดูกาลพืชในช่วงที่ราคาข้าวในรอบฤดูกาล 2566/67 ที่ผ่านมา ราคาข้าวโพดฯ ขึ้นลงผันผวนมาก ทำให้พ่อค้าคนกลางส่วนใหญ่กลัวขาดทุน ขายยี่ปั้วล่วงหน้าไปมาก ดูได้จากช่วงต้นฤดูกาลที่ข้าวโพดฝนออก ราคาข้าวโพดสูงสุดในวันที่ 11/9/2566 อยู่ที่ 11.45 บาท/ก.ก.(เทียบราคาชิคาโก 4.8375 USD/Bu) หลังจากนั้นราคาข้าวโพดลดลงมาตลอดจนมาอยู่จุดต่ำสุดวันที่14/11/2566 9.95 บาท (4.7825 USD/Bu) ทำให้พ่อค้าติดราคาสูงหลายรายขายไม่ทันจึงติดต้นทุนสต็อกที่สูง
หลังจากนั้นราคาข้าวโพดฯ กลับมาเริ่มสูงขึ้นจนถึงจุดสูงสุดรอบใหม่ในวันที่4/1/2567 อยู่ที่ระดับ 10.70 บาท/ก.ก (4.665 USD/Bu) หลังจากนั้นราคาก็ลงมาจนถึงจุดต่ำสุดรอบใหม่ เมื่อวันที่ 23/4/2567 10.2 บาท/ก.ก.(เทียบราคาชิคาโก 4.525 USD/Bu และขึ้นมาอย่างรวดเร็วอยู่ระดับสูงถึง 11.30 บาท/ก.ก. (เทียบราคาชิคาโก 4.5375 USD/Bu) ถ้าสังเกตระดับราคาขาลงมาต่ำลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ออก ทั้งสองรอบ คือรอบข้าวโพดฝน กับรอบข้าวโพดหลังนา พอข้าวโพดฯ ในมือเกษตรกรลดลง ราคาก็กลับมาเป็นขาขึ้น
2.ผู้รวบรวมตกลงซื้อขายข้าวโพดฯ ล่วงหน้าและประมูลขายให้กับโรงงานระดับกลางและเล็ก ในระดับราคาเพียง 9.8-10.30 บาท ก่อนที่ราคาจะขึ้นเป็นจำนวนมาก 3.โรงงานที่มีรถเข้าน้อย และมีตัวแทนอยู่ในสมาคมที่เกี่ยวข้องมีการตั้งเงื่อนไขการรับซื้อโดย ผู้รวบรวมจะต้องลงทะเบียนที่ยุ่งยากซับซ้อนให้กับเกษตรกรก่อนจึงขายให้โรงงานนั้นๆ ได้ จึงมีผู้รวบรวมไม่กี่รายที่สามารถขายให้กับโรงงานนั้นได้
นายเทอดศักดิ์ กล่าวกลุ่มที่ได้ผลประโยชน์จากราคาข้าวโพดฯเลี้ยงสัตว์ ขึ้น เช็คได้จาก 1.โรงงานไหนมีสต็อกข้าวโพดฯ มากที่สุด 2. โรงงานไหนมีสต็อกข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และกากข้าวโพดฯ และมีการนำเข้าวัตถุดิบทดแทนเหล่านั้นมากมากในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา 3. โรงงานไหนที่สามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ทำให้โรงงานที่มีศักยภาพน้อยกว่าต้องซื้อวัตถุดิบในราคาที่สูงขึ้น 4. โรงงานไหนที่สามารถนำเข้าข้าวโพดฯ จากเมียนมาได้โดยตรงในปริมาณที่มากก่อนราคาข้าวโพดฯ ขึ้น
5. กลุ่มไหนได้ประโยชน์จากการที่ยกราคาข้าวโพดฯ มาระดับสูงแล้วนำมาเป็นเหตุในการเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการ 3:1 เรียกร้องให้ปล่อยราคาอาหารสัตว์ลอยตัว, หรือสามารถขายอาหารสัตว์ในระดับราคาที่สูงสู่เกษตรกรคู่พันธสัญญา แถมขึ้นราคาข้าวโพดฯ มาเพื่อให้ผู้ผลิตรายอื่นมาซื้อวัตถุดิบทดแทนกับตน บวกกับการสร้างความได้เปรียบทางการค้าของธุรกิจรายใหญ่ 6.การนำเข้าวัตถุดิบทดแทนจากต่างประเทศมีผลประโยชน์ทั้งในและนอกระบบมูลค่าสูงที่อยู่กับกลุ่มบุคคลจำนวนไม่มาก ถาครัฐต้องตรวจสอบว่าต้องการนำเข้าเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมหรือไม่ขณะที่วัตถุดิบทดแทนตัวอื่นภายในประเทศมีอย่างเพียงพอ
สมาคมการค้าพืชไร่ขอร้องให้คงมาตรการ 3:1 เพราะเป็นมาตรการที่ช่วยปกป้องเกษตรกรผู้ปลูกพืชวัตถุดิบไทยที่มีประสิทธิภาพที่ดีระดับหนึ่ง หากมีการยกเลิกย่อมส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกพืชวัตถุดิบไทย ธุรกิจการผลิตไทยควรเน้นการใช้วัตถุดิบที่ผลิตได้ภายในประเทศเพื่อส่งเสริมความมั่นคงและพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นในประเทศ และยืนยันว่ากลุ่มผู้รวบรวมยังเป็นประโยชน์ในห่วงโซ่ธุรกิจอาหารสัตว์ เป็นเหมือนเขื่อนกักเก็บผลผลิตที่ไม่ให้ออกไปขายให้กับโรงงานอาหารสัตว์มากเกินไปโดยเฉพาะในช่วงฤดูกาล แต่ปัจจุบันถูกมองเป็นหอกข้างแคร่ของกลุ่มผลประโยชน์ จึงถูกให้ร้าย ป้ายสีมาอย่างต่อเนื่อง
หนังสือของสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย