รายงานข่าวเผยว่าองค์การคลังสินค้า (อคส.) ในฐานะหน่วยปฏิบัติโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2548/49 (สมัยรัฐบาลทักษิณ) ได้มีหนังสือถึงกรมการค้าภายใน ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.)เพื่อขออนุมัติจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจังหวัดพิจิตรที่ได้รับความเดือดร้อนจากยังไม่ได้รับเงินค่าจำนำข้าวเปลือกมานานกว่า 18 ปี จำนวน 464 ราย คิดเป็นมูลค่า 39.66 ล้านบาท แบ่งเป็นข้าวเปลือกเจ้า 83.351 ตัน มูลค่า 565,839 บาท และข้าวเปลือกหอมจังหวัด 4,963.620 ตัน มูลค่า 39.09 ล้านบาท โดยขอให้ นบข.อนุมัติงบประมาณเพื่อจ่ายเยียวยาให้เกษตรกรดังกล่าว
แหล่งข่าวจากที่ประชุม นบข. เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า องค์การคลังสินค้า ได้มีคำสั่ง อคส.ลับ ที่ 43/2565 ลงวันที่ 20 เมษายน 2565 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีมีผู้แทนเกษตรกรร้องขอความเป็นธรรมต่อผู้บริหาร เรื่องสิทธิโดยชอบธรรมขอให้ออกใบประทวนสินค้าให้เกษตรกรที่เดือดร้อนและเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2548/49 จังหวัดพิจิตร กรณีเกษตรกรนำข้าวเปลือกหอมจังหวัด และข้าวเปลือกเจ้า มาส่ง ณ โรงสีบริษัทก้องเกียรติการเกษตร (1998) เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2548 ก่อนที่โรงสีจะได้รับอนุมัติเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกกับ อคส.
ตามสัญญาเลขที่ ขป.อคส.พจ.46/2548 วันที่ 17 มกราคม 2549 ซึ่งในวันนั้น อคส.ได้มีหนังสือขอให้ทางจังหวัดพิจิตรตรวจสอบ พบว่าเกษตรกรได้นำข้าวเปลือกมาเข้าร่วมโครงการกับบริษัทจริงและยังไม่ได้รับใบประทวนสินค้า 470 ราย (ปัจจุบันมี 464 ราย) จึงสั่งให้บริษัทรับฝากข้าวเปลือกจากเกษตรกร และในระหว่างที่ อคส.จะออกใบประทวนสินค้าให้กับเกษตรกร ก็ได้ทราบข่าวว่าบริษัทดังกล่าวมีการขนย้ายข้าวสารนำไปปรับปรุงที่โกดังของบริษัท พงษ์ลาภ จำกัด จังหวัดปทุมธานี
ในขณะนั้น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าว (กนข.) ได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2549 ว่า ไม่สมควรที่จะออกใบประทวนให้ และทางบริษัทฯ ก็ยอมรับว่าได้ขายข้าวให้กับบริษัทพงษ์ลาภไปหมดแล้ว และได้รับเงินแล้ว แต่ไม่จ่ายเงินให้เกษตรกร ล่าสุดสถานะบริษัทได้ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว เป็นคดีหมายเลขแดง ที่ ล.3372/2556 ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2562
ทั้งนี้ที่ประชุม นบข.ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ได้มีมติให้ อคส.ไปหารือกับสำนักงบประมาณเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามข้อระเบียบกฎหมาย หากเห็นว่าควรเยียวยาให้จัดทำหลักเกณฑ์ที่มีระเบียบและข้อกฎหมายรองรับและประสานหน่วยงานตรวจสอบเพื่อขอความเห็นและข้อเสนอแนะด้วย นอกจากนี้ที่ประชุมได้มอบอำนาจให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ดำเนินคดีแทนทุกคดี และในทุกขั้นตอนจนคดีถึงที่สุด รวมทั้งให้มีอำนาจในการมอบอำนาจช่วงได้ด้วย
ขณะเดียวกันในการประชุม นบข.ครั้งล่าสุด ผู้แทนจากสมาคมส่งออกข้าวไทย ได้ให้ความคิดเห็นอย่างน่าสนใจ ในเรื่องโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 โดยสนับสนุนปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และชีวภัณฑ์ ไม่เกินไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ (ปุ๋ยคนละครึ่ง โดยรัฐช่วยเหลือค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์ไม่เกิน 500 บาท/ไร่) โดยคำนวณเต็มจำนวนไร่ เหลือเศษไร่ปัดทิ้ง
“โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง มีเป้าหมายชาวนา 4.68 ล้าน ครัวเรือน มีปุ๋ย 16 สูตรให้เลือกอาทิ สูตร 25-7-14 และปุ๋ยสูตร 20-8-20 เป็นต้น เรื่องนี้มีคำถามว่า ทำไมไม่จ่ายเงินตรงเข้าบัญชีเกษตรกรเลย ซึ่งทางอธิบดีกรมการข้าวได้ชี้แจงว่าถ้าจ่ายในรูปแบบเดิมไม่สามารถสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรได้ ในทางตรงกันข้ามจะทำให้พฤติกรรมและศักยภาพของเกษตรกรอ่อนแอลงและเป็นภาระด้านงบประมาณของประเทศไม่สิ้นสุด ทั้งนี้ทางกรมการข้าวจะมีการประกาศรับสมัครและคัดเลือกผู้ประกอบกิจการปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และชีวภัณฑ์ในประเทศและแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาปุ๋ยและชีวภัณฑ์ โดยมีนายอานนท์ นนทรี รองอธิบดีกรมการข้าว เป็นประธานต่อไป” แหล่งข่าวกล่าว
ด้านนายเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย กล่าวว่า หากรัฐบาลทำโครงการปุ๋ยคนละครึ่งผ่านสมาคมฯ จะแจ้งสมาชิกให้กำหนดราคาขายไม่เอากำไรจากเกษตรกรมากนัก แต่ถ้าไปซื้อผ่านร้านยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว ที่มีของขายอยู่แล้วเกษตรกรต้องไปขนปุ๋ยกันเอาเอง ในเรื่องนี้เสนอแนะให้เลียนโมเดลกระทรวงพาณิชย์ลดราคาปุ๋ย คือให้ใช้ยี่ห้อ/แบรนด์ของแต่ละบริษัท ให้สั่งซื้อผ่านสถาบันเกษตรกร และให้ตรวจเข้มเรื่องคุณภาพ เพื่อป้องกันปุ๋ยที่ไม่มีคุณภาพเข้าร่วมโครงการ
อ้างอิง เลียนโมเดลโครงการกระทรวงพาณิชย์ลดราคาปุ๋ย
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,002 วันที่ 20-22 มิถุนายน พ.ศ. 2567