ชาวนาลุ้น ! 25 มิ.ย. ครม.ไฟเขียว “ปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง”

23 มิ.ย. 2567 | 10:05 น.

มาแน่! “ปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง” งบกว่า 2.9 หมื่นล้านบาท คืบ “ปราโมทย์” นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย แจ้งข่าวดี หลังผ่าน นบข. “ธรรมนัส” ส่งเข้าที่ประชุม ครม. 25 มิ.ย. หวังผ่านฉลุย พร้อมนัดแถลงข่าวทำเนียบรัฐบาล

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  ถึงความคืบหน้าโครงการ “ปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง” ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ(นบข). ได้มีมติเห็นชอบหลักการโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายปัจจัยการผลิตลดต้นทุนการผลิตข้าวแก่เกษตรกร โดยจะสนับสนุนปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และชีวภัณฑ์ ไม่เกินไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2567/68 ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เป้าหมาย 4.68 ล้านครัวเรือน วงเงินงบประมาณ 29,994.3445 ล้านบาท

 

ชาวนาลุ้น ! 25 มิ.ย. ครม.ไฟเขียว “ปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง”

 

ล่าสุดได้ทราบข่าวจากรัฐบาลว่าจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 25 มิถุนายนนี้ โดยจะให้ทางสมาคมฯร่วมแถลงข่าวกับร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล สำหรับปุ๋ยที่เข้าร่วมโครงการ เป็นปุ๋ยที่ได้รับการขึ้นทะเบียน หรือหนังสือสำคัญรับแจ้งถูกต้องตาม พ.ร.บ.ปุ๋ยและชีวภัณฑ์ ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนถูกต้องตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ซึ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสามารถเลือกรับการสนับสนุนปุ๋ยสำหรับนาข้าวที่ขึ้นทะเบียน มีทั้งหมด 16 สูตรปุ๋ย ได้แก่ ที่กรมการข้าวเสนอ มี   13 รายการ ได้แก่ 1.ปุ๋ยสูตร 25-7-14 2.ปุ๋ยสูตร 20-8-20 3.ปุ๋ยสูตร 20-10-12  4.ปุ๋ยสูตร 30-3-3 5.ปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 6.ปุ๋ยสูตร 18-12-6 7.ปุ๋ยสูตร 16-8-8

 

8.ปุ๋ยสูตร 16-12-8 9.ปุ๋ยสูตร 16-16-8 10.ปุ๋ยสูตร 16-20-0 11.ปุ๋ยสูตร 20-20-0 12.ปุ๋ยอินทรีย์ที่ขึ้นบัญชีนวัตกรรม หรือใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ยอินทรีย์ 13.ชีวภัณฑ์ที่ได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย และสมาคมฯขอให้เพิ่มอีก 3 สูตร ได้แก่ 1.ปุ๋ยสูตร 16-16-16 2.ปุ๋ยสูตร 15-15-15 และ 3.ปุ๋ยสูตร 13-13-24  ยังมีปุ๋ยอินทรีย์ที่ขึ้นบัญชีนวัตกรรม หรือใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ยอินทรีย์ ตลอดจนชีวภัณฑ์ที่ได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย รวมทั้งโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปี 2567 เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรจากผลกระทบของภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย

 

ผ่างบ "ปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง"

 

ทั้งนี้เงื่อนไขโครงการ “ปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง”

1.ต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 กับกรมส่งเสริมการเกษตร

2.กรมการข้าวประกาศรับสมัครและคัดเลือกผู้ประกอบกิจการปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และชีวภัณฑ์ในประเทศ

3.กรมส่งเสริมสหกรณ์ประกาศรับสมัครและคัดเลือกสหกรณ์การเกษตรเข้าร่วมโครงการ

4.สหกรณ์การเกษตรที่เข้าร่วมโครงการ คัดเลือกผู้ประกอบการปุ๋ยและชีวภัณฑ์ให้เป็นผู้จัดหาปุ๋ยและชีวภัณฑ์

5.สหกรณ์การเกษตรที่เข้าร่วมโครงการเป็นผู้กระจายปุ๋ยและชีวภัณฑ์ให้เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการ

6.การสนับสนุนค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง สนับสนุนค่าปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และชีวภัณฑ์ในราคาไม่เกินไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ ตามพื้นที่ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร

7.เกษตรกรสามารถรับสิทธิ์ และขอรับปุ๋ยและชีวภัณฑ์ได้เพียง 1 ครั้ง

8.กรณีเกษตรกร 1 ครัวเรือน มีพื้นที่ปลูกข้าวอยู่หลายที่ (จังหวัด อำเภอ ตำบล) มีสิทธิ์ได้รับการสนับสนุนทุกพื้นที่ แต่พื้นที่รวมกันทั้งหมดต้องไม่เกิน 20 ไร่ โดยคำนวณเป็นตารางวา โดยต้องมีการตรวจสอบผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ

9.ครัวเรือนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวใช้สิทธิ์ได้ถึง 31 พฤษภาคม 2568

10.สหกรณ์การเกษตร ต้องส่งมอบปุ๋ยและชีวภัณฑ์ให้เกษตรกร ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน โดยหากเกษตรกรยังไม่ได้รับปุ๋ยและชีวภัณฑ์ ธ.ก.ส.จะคืนเงินที่เกษตรกรชำระทั้งหมดให้เกษตรกร

วิธีการดำเนินงาน

1.การขึ้นทะเบียนเกษตรกร             

  • กรมส่งเสริมการเกษตรเร่งรัดขึ้นทะเบียนเกษตรกร ปี 2567/68

2.จัดหาผู้ประกอบการและสหกรณ์การเกษตรเข้าร่วมโครงการ

  • กรมการข้าวรับสมัครผู้ประกอบการปุ๋ย-ชีวภัณฑ์
  •  กรมส่งเสริมสหกรณ์คัดเลือกสหกรณ์การเกษตรเข้าร่วมโครงการ

3.จัดหาปุ๋ยเพื่อจำหน่ายให้เกษตรกร

  • สหกรณ์การเกษตรเลือกผู้ประกอบการที่กรมการข้าวคัดเลือกไว้เป็นผู้จัดหาปุ๋ย-ชีวภัณฑ์

4.ทำฐานข้อมูลจำหน่ายปุ๋ย  

  • ธ.ก.ส./กรมส่งเสริมการเกษตร/กรมส่งเสริมสหกรณ์/กรมการข้าว พัฒนาแอพพลิเคชัน

5.การตรวจสอบสิทธิ์ การขอใช้สิทธิ์ชาวนา

  • เกษตรกรตรวจสอบสิทธิ์ และใช้สิทธิ์ผ่านแอพพลิเคชัน
  • เกษตรกรผู้ปลูกข้าวจ่ายเงินสมทบค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์
  • สหกรณ์การเกษตรตรวจสอบการใช้สิทธิ์ผ่านแอพพลิเคชั่น เพื่อทราบข้อมูลความต้องการปุ๋ยและชีวภัณฑ์ ปริมาณ สูตร และวัน เวลาการรับปุ๋ยและชีวภัณฑ์ ณ จุดส่งมอบ ภายในระยะเวลาตามแผนที่ส่งมอบปุ๋ยและชีวภัณฑ์

6.การส่งมอบปุ๋ยและชีวภัณฑ์ให้เกษตรกร

  • ผู้ประกอบกิจการปุ๋ยและชีวภัณฑ์ส่งมอบปุ๋ยและชีวภัณฑ์ให้สหกรณ์การเกษตร
  • สหกรณ์การเกษตรส่งปุ๋ยและชีวภัณฑ์ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ณ สถานที่ และเวลาตามแผนการส่งมอบปุ๋ยและชีวภัณฑ์

7.การสุ่มตรวจคุณภาพ

  • กรมวิชาการเกษตรตรวจสอบคุณภาพปุ๋ยและชีวภัณฑ์ตามโครงการของแต่ละผู้ประกอบกิจการที่เข้าร่วมโครงการ

8.การโอนจ่ายค่าเงินปุ๋ยของเกษตรกรและสมทบจากรัฐบาล

  • สหกรณ์การเกษตรสรุปข้อมูลการกระจายปุ๋ยและชีวภัณฑ์ของเกษตรกรผ่านระบบ และตรวจสอบวงเงินค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์แจ้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จ่ายเงินให้สหกรณ์การเกษตร
  • สหกรณ์การเกษตรจ่ายเงินให้ผู้ประกอบกิจการปุ๋ยและชีวภัณฑ์