บิ๊กธุรกิจ เปิดศึกชิงยาง EUDR กยท.คุมเข้มแก๊งสวมสิทธิเกษตรกร

09 มิ.ย. 2567 | 04:24 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มิ.ย. 2567 | 04:26 น.

ตื่น “EUDR” บิ๊กธุรกิจยางพารา เปิดศึกสถาบันเกษตรกร ชิงผลผลิตยางไม่รุกป่า 20 ล้านไร่ ดันราคาประมูลสูงสุดรอบ 12 ปี “เพิก” ประธานบอร์ด กยท. ฮึ่ม เตรียมเชือดเป็นคดีตัวอย่าง แก๊งสวมสิทธิเกษตรกร สอดไส้สวมยาง EUDR ส่งขาย หลังราคาจูงใจ ขู่ใช้โทษสูงสุด พ่วงขึ้นแบล็กสิสต์

จากที่สหภาพยุโรป (อียู) เตรียมบังคับใช้กฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (European Union Deforestation Regulation ) หรือ “EUDR” ในวันที่ 30 ธันวาคม 2567 ครอบคลุม 7 กลุ่มสินค้า ได้แก่ โกโก้ กาแฟ ถั่วเหลือง ยางพารา ปาล์มนํ้ามัน โค และไม้ รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปของสินค้าเหล่านี้ โดยสินค้าที่มีการส่งออกมากที่สุดคือ ยางพารา ได้เริ่มนำร่องการประมูลยาง EUDR ณ ตลาดกลางยางพาราสุราษฎร์ธานีเป็นที่แรก เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2567 ผลประมูลยางแผ่นรมควัน RSS (EUDR) ชั้น 3 ได้ราคาสูงสุด 96.66 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ถือเป็นราคาสูงสุดในรอบ 12 ปี นับตั้งแต่ปี 2555

บิ๊กธุรกิจ เปิดศึกชิงยาง EUDR กยท.คุมเข้มแก๊งสวมสิทธิเกษตรกร

นายฉลองชาติ ยังปักษี คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ภาคใต้ตอนบน เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันบริษัท /ผู้ประกอบการยางพารา ที่ขายให้กับตลาดอียูหลายราย ได้ส่งคนมาสำรวจแปลงปลูกสวนยางในพื้นที่ต่าง ๆ อาทิ เครือศรีตรังฯ ยางไทยปักษ์ใต้ เป็นต้น ซึ่งได้แจ้งชาวสวนยาง และผู้ค้ายางที่จะขายให้กับบริษัท จะต้องเตรียมเอกสาร ได้แก่ 1.แบบสอบถามการสำรวจแหล่งที่มา,เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน หรือการแชร์ตำแหน่งที่ตั้งของสวนยางจาก แอป Google map หรือ Line จากมือถือ

 

บิ๊กธุรกิจ เปิดศึกชิงยาง EUDR กยท.คุมเข้มแก๊งสวมสิทธิเกษตรกร

“หากเกษตรกรจะขายยางให้กับเอกชนรายใด ก็ต้องไปตรวจสอบรายนั้นว่าได้ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ที่จะขายยางให้กับอียูหรือไม่ จากมีความเสี่ยง เพราะไม่แน่ใจว่าเป็นคนของบริษัทจริงหรือไม่ แต่ถ้าขายให้กับสถาบันเกษตรกร ที่เป็นเครือข่าย กยท.อยู่แล้วก็มั่นใจว่าไม่โดนหลอกแน่ และในส่วนของเกษตรกร หากมีโควตาขายอยู่ 1,000 กิโลกรัม แต่ไปเอาของคนอื่นมาใส่เพิ่ม เกษตรกรรายนั้นอาจจะโดนตัดสิทธิ์ไม่ให้เข้าร่วมโครงการ”

 

บิ๊กธุรกิจ เปิดศึกชิงยาง EUDR กยท.คุมเข้มแก๊งสวมสิทธิเกษตรกร

ขณะที่นายเพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ด กยท.) กล่าวว่า EUDR เป็นเรื่องใหม่ ยอมรับว่ากยท. ยังไม่สามารถที่จะออกไปรับรองพื้นที่สวนยางตามมาตรฐาน EUDR ได้ทั้งหมด แต่มีแผนดำเนินการชัดเจนเป็นไปตามขั้นตอน โดยเปิดให้เกษตรกรมาขึ้นทะเบียน จากนั้นจะเปิดให้ผู้ประกอบการที่ต้องการจะซื้อขายยาง EUDR ให้มาขึ้นทะเบียนตามลำดับ ล่าสุดมีข่าวมาว่ามีความพยายามของกลุ่มคนที่จะนำสิทธิของเกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียนกับ กยท. ไปหาซื้อยางกันเอง แล้วนำมาคูณด้วยจำนวนโควตาที่เกษตรกรได้รับ นำมาขายทำกำไรได้เลย ซึ่งความจริงไม่ใช่ และไม่ง่ายแบบนั้น เพราะในการซื้อขายยาง EUDR จะต้องให้ กยท.ตรวจสอบข้อมูลและรับรองความถูกต้องอีกครั้ง หากไม่ตรงกับฐานข้อมูลก็จะถูกตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเข้มข้น

“ยกตัวอย่าง นาย ก มีทะเบียนเกษตรกร ขึ้นพื้นที่ไว้ 10 ไร่ คิดเป็นปริมาณยาง 260 กก.ต่อไร่ นำมาคูณ 10 ไร่ จะมีโควตาขายยาง 2,600 กก. แล้วมีเทคโนโลยีคำนวณการถอดสูตร ดังนั้นการที่จะมาโกงโควตาทำได้แต่ไม่ง่าย ตอนนี้มีการตรวจเจอแล้ว กำลังดำเนินคดีให้เป็นตัวอย่าง มีภาคใต้ 1 ราย และภาคตะวันออก 1 ราย ปัจจุบัน กยท. มีการขึ้นทะเบียนสวนยางทั้งหมด 15 ล้านไร่ สิ้นเดือนมิถุนายนนี้คาดจะได้ประมาณ 20 ล้านไร่”

บิ๊กธุรกิจ เปิดศึกชิงยาง EUDR กยท.คุมเข้มแก๊งสวมสิทธิเกษตรกร

ทั้งนี้ ราคายางอียูดีอาร์ราคาสูงกว่ายางทั่วไป ถ้านำไปสวมสิทธิโดยที่เกษตรกรไม่ยินยอม จะมีโทษตามกฎหมาย PDPA โทษสูงสุดจำคุก 1 ปี ปรับ 3 ล้านบาท หรือจ่ายค่าเสียหาย 2 เท่า หรือทั้งจำทั้งปรับ  และนำมาใช้เพื่อการค้ายิ่งโดน 2 เด้งเพราะจะถูกขึ้นแบล็กลิสต์ด้วย

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,999 วันที่ 9-12 มิถุนายน พ.ศ. 2567