ผ่าปมร้อน ประชาพิจารณ์ “เพิกถอนอุทยานแห่งชาติทับลาน” 2.6 แสนไร่

09 ก.ค. 2567 | 04:51 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ค. 2567 | 05:27 น.

จับตาปมร้อนโซเชียลติดแฮชแท็ก #saveทับลาน หลังกรมอุทยานฯ เสนอแผนและเปิดรับฟังความเห็น "เพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน" ฝั่งนครราชสีมา และปราจีนบุรี เนื้อที่ 2.6 แสนไร่ ออกจากการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อแก้ปัญหาที่ดินทำกินที่ทับซ้อนกับพื้นที่อุทยานฯ

KEY

POINTS

  • กรมอุทยานฯ เสนอแผนเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน 2.6 แสนไร่ เพื่อแก้ปัญหาที่ดินทำกินของชาวบ้าน แต่กลายเป็นที่ถกเถียงในโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะแฮชแท็ก #saveทับลาน
  • ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็น คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 ก่อนจะรวบรวมเสนอให้คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติพิจารณาภายใน 30 วัน
  • กระทรวงเกษตรฯ ย้ำการพิจารณาจะต้องยึดหลักข้อเท็จจริงในการอยู่อาศัย การทำกิน และการดูแลรักษาผืนป่า ต้องจำแนกให้ชัดเจนว่าใครคือกลุ่มทุนและใครคือเกษตรกร ซึ่งจะไม่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนหรือรีสอร์ท

#saveทับลาน ปมร้อนโซเชียลพาหันติดแฮชแท็ก  หลังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เสนอแผนเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ฝั่ง จ. นครราชสีมา และปราจีนบุรี เนื้อที่ 2.6 แสนไร่ ออกจากการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยเหตุผลหลักคือ เพื่อแก้ปัญหาที่ดินทำกินของชาวบ้านที่ทับซ้อนกับพื้นที่อุทยานฯ

แม้ว่าประเด็นนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ผ่านช่องทางออนไลน์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

แผนที่แสดงพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานและพื้นที่เพิกถอนตาม มติ.ครม. 14 มีนาคม 2566 กว่า 265,000 ไร่

แต่ทว่าประเด็นนี้กลายเป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวาง เกิดกระแส #Saveทับลาน บนโซเชียลมีเดีย เพราะกังวลว่า การเพิกถอนพื้นที่ป่าทับลาน จะส่งผลเสียต่อระบบนิเวศ สัตว์ป่า และแหล่งน้ำ และยังมีข้อสงสัยถึงเจตนาเบื้องหลัง ว่าการเพิกถอนพื้นที่นี้ จะเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนหรือไม่ หลายองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม และนักอนุรักษ์ธรรมชาติ ออกมารณรงค์ให้ทุกคนร่วมแสดงพลังคัดค้านการเพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ ทับลาน

พล.ต.อ.พัชรวาท ย้ำประชาพิจารณ์เสร็จ 12 ก.ค. พร้อมฟังเสียงค้าน

พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงการล่ารายชื่อคัดค้านการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ที่ทับซ้อนกับที่ดินประชาชนกว่า 260,000 ไร่ว่า ขณะนี้กำลังทำประชาวิจารณ์ โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน โดยพื้นที่ดังกล่าว เป็นที่ดินของชาวบ้านประมาณ 50,000 ไร่ ส่วนนี้จะดูแลชาวบ้านเป็นหลัก ส่วนตัวเลข 260,000 ไร่นั้น เป็นพื้นที่เขตอุทยานทับลานทั้งหมด ไม่ใช่คืนที่ดินทำกินทั้งหมด โดยคณะกรรมการอุทยาน จะเป็นผู้พิจารณา

พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

"จะเร่งรัดให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ พิจารณาภายใน 30 วัน และพร้อมรับฟังกระแสที่ประชาชนทั้งประเทศไม่เห็นด้วย ซึ่งขั้นตอนกระบวนการทำประชาวิจารณ์ จะแล้วเสร็จในวันที่ 12  กรกฎาคม 2567 โดยรายละเอียดขอให้ถามอธิบดีกรมอุทยานฯ" พลตำรวจเอกพัชรวาท กล่าว

"กรมอุทยานฯ" เร่งฟังความเห็นคาดสรุปภายใน 30 วัน

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้แจงกรณีการรับฟังความคิดเห็นประชาชน เพื่อดำเนินการแบ่งพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานจังหวัดนครราชสีมา-ปราจีนบุรี จำนวน 260,000 ไร่ ไปให้ ส.ป.ก.ดูแลว่า ปัญหาพื้นที่พิพาทในเขตอุทยานแห่งชาติ (อช.) ทับลาน มีมานานกว่า 40 ปีแล้ว เนื่องจากพื้นที่ ดังกล่าวก่อนเป็นอุทยานแห่งชาติ เป็นป่าสงวนมาก่อน และได้มีการจัดพื้นที่ให้ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยได้เข้าไปทำกิน เนื้อที่ประมาณ 58,000 ไร่

แต่หลังจากนั้นได้มีการประกาศอุทยานแห่งชาติ ไปทับพื้นที่ในส่วนนี้ด้วย ซึ่งถือเป็นความบกพร่องของกรมป่าไม้ในอดีต จึงมีการเรียกร้องให้กันพื้นที่ออกจากอุทยาน และมีการสำรวจพื้นที่ใหม่อีกครั้งในปี 2543 แต่กระบวนการดังกล่าวไม่เสร็จสิ้น ซึ่งหลายรัฐบาลที่ผ่านมา พยายามแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้าน และมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ สคทช. และมีมติให้กันพื้นที่ชุมชนจำนวน 265,000 ไร่ ให้เป็นพื้นที่ของ ส.ป.ก.

และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในวันที่ 14 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา แต่บุคคลใดที่ถูกดำเนินคดี ในพื้นที่ดังกล่าวจะไม่ได้รับการยกเว้น ดังนั้น จากมติดังกล่าวทำให้กรมอุทยานฯ ต้องมาดำเนินการปรับปรุงแนวเขต แต่จะทำได้นั้น ต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ทั้งจากในพื้นที่ และประชาชนทั่วประเทศ

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ และจะสิ้นสุดในวันที่ 12 กรกฎาคม ก่อนจะรวบรวม เสนอให้คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ พิจารณาภายใน 30 วัน เพื่อมีมติเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป แต่สิ่งสำคัญ จะต้องยึดหลักข้อเท็จจริง ทั้งการอยู่อาศัย การทำกิน และการดูแลรักษาผืนป่า เนื่องจากในจำนวน 265,000 ไร่ มีทั้งคนที่อยู่อาศัยอยู่เดิม จากการจัดสรรพื้นที่ และคนที่มาซื้อต่อเป็นมือที่ 2 มือที่ 3 รวมถึงกลุ่มรีสอร์ทที่ถูกดำเนินคดีกว่า 12,000 ไร่ 

ส่วนที่หลายคนมองมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 เป็นการเอื้อนายทุนนั้น อธิบดีกรมอุทยานฯ ชี้แจงว่า รัฐบาลที่ผ่าน มาพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินให้กับชาวบ้าน จึงเห็นว่า ควรทำให้เป็นที่ดินของรัฐ และ ส.ป.ก.ก็ถือเป็นที่ดินของรัฐ ดังนั้นส.ป.ก.จึงต้องเข้ามาพิจารณาตรวจสอบว่า ใครมีสิทธิ์ ในส่วนของกรมอุทยานเองก็จะต้องไปพิจารณาร่วมกันในชั้นของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี พร้อมยังว่า บุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติตามกฎหมาย ก็ยังขาดคุณสมบัติถือครองที่ดิน เพราะมีความกังวลว่า หากมีการจัดสรรที่ไปแล้ว เกิดผลกระทบ เพื่อให้กับนายทุนกลุ่มรีสอร์ทเข้าไปดำเนินการ 

ผ่าปมร้อน ประชาพิจารณ์ “เพิกถอนอุทยานแห่งชาติทับลาน” 2.6 แสนไร่

ส่วนประชาชนจะต้องได้รับการจัดสรรพื้นที่จำนวนเท่าใดและใครจะได้รับสิทธิบ้างนั้น อธิบดีกรมอุทยานฯ ระบุว่า ต้องไปหารือในชั้นคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เพราะคุณสมบัติแต่ละคนไม่เท่ากัน และบางคนอยู่เดิม บางคนมาซื้อขาย เปลี่ยนมือบางคนเข้ามากว้านซื้อ จึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงคุณสมบัติผู้ครอบครองที่ดินของรัฐ 

ส่วนมติคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามแผนที่ ที่มีการรังวัดใหม่ในปี 2543 เสียงของประชาชนจะสามารถเปลี่ยนแปลงมติดังกล่าวได้หรือไม่นั้น อธิบดีกรมอุทยานฯ ยอมรับว่า เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา และเป็นข้อเสนอของคณะกรรมการอุทยานฯ ซึ่งตอนนี้มีการรับฟังความเห็นทั้งชาวบ้านในพื้นที่ และในโลกออนไลน์ แต่ทุกอย่างต้องไปยุติที่คณะกรรมการอุทยานฯ เพื่อเสนอต่อ สคทช. หรือคณะรัฐมนตรี หากมีมติให้ดำเนินการตามแผนที่ปี 2543 กรมอุทยานก็ต้องมาดำเนินการรังวัด เพื่อปรับแผนที่ท้ายกฎหมายใหม่

 

“ร.อ.ธรรมนัส” แจงยังไม่ถึงขั้นตอน กษ.– ย้ำต้องแยกนายทุน-เกษตรกร

ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการคัดค้านการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จัดสรรที่ดินทำกินให้ประชาชนว่าขั้นตอนขณะนี้ ไม่ได้อยู่ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ พร้อมระบุว่า กรณีอุทยานแห่งชาติทับลาน เกิดขึ้นในรัฐบาลหลายยุค แต่มาสรุปเมื่อต้นปี 2566 ในรัฐบาลยุคที่แล้ว เรื่องการปรับแนวเขตปี 2543 โดยหลังจากที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ก็เป็นเรื่องที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะต้องไปดำเนินการโดยกรมอุทยานแห่งชาติฯ และขณะนี้ก็มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่

"พร้อมขอให้เข้าใจว่า เรื่องดังกล่าว ไม่ได้เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดปัจจุบัน และตนกำกับดูแล สปก. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับนโยบายจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ สคทช. ซึ่งหาก สคทช. เห็นชอบอย่างไร ก็จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อเห็นชอบให้ สปก.นำไปจัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกรทำกิน ก็จะนำไปปฏิบัติ" 

ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ส่วนจำนวนที่ดินที่ทับซ้อนประมาณ 150,000 ไร่ ในจำนวนนี้พบมีของนายทุน และชาวบ้านนั้น ร้อยเอกธรรมนัส กล่าวว่า ที่ดินเหล่านี้กรมอุทยานแห่งฯ มีคณะกรรมการตรวจสอบ และจำแนกชัดเจนว่า จุดใดที่ประชาชนร้องเรียนมา ไม่ใช่เหมารวมทั้งหมด จนนำไปสู่การประชุมของการประชุมคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน หรือ คนช. และย้ำว่า ต้องมีการจำแนกให้ชัดเจนถึงแนวเขตว่าจุดใด ควรอนุอนุรักษ์เป็นป่า จุดใดที่ชาวบ้านอยู่อยู่แล้ว และต้องเข้าใจก่อนว่า กรณีนี้เป็นการแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างรัฐกับประชาชน มีมาตรการและขั้นตอนอยู่ เพราะฉะนั้น ขอให้ใจเย็น ๆ เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนการทำประชาวิจารณ์อยู่  

ส่วนจะต้องใช้แผนที่ใดในการแบ่งเขตนั้น ร้อยเอกธรรมนัส กล่าวว่า การบริหารราชการแผ่นดินภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เรื่องนี้หน่วยงานที่จะปฏิบัติ ต้องนำมติที่ผ่านคณะกรรมการนโยบายที่ดินเข้าคณะรัฐมนตรี

ส่วนการออก สปก.ทับที่อุทยานที่เกิดขึ้นหลายพื้นที่นั้น ร้อยเอกธรรมนัส ยืนยันว่ากระทรวงเกษตรฯ เป็นหน่วยงานปฏิบัติที่ต้องทำตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อเห็นชอบอย่างไร ก็ต้องนำไปปฏิบัติ หากไม่ปฏิบัติก็จะผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ดังนั้นเรื่องนี้ จึงยังไม่ถึงกระบวนการของ สปก. และเป็นเรื่องของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ต้องดำเนินการและหลังจากที่กรมอุทยานเห็นชอบ จุดใดเป็นกลุ่มนายทุนบุกรุกก็จะ ต้องถูกออกหมายจับดำเนินคดีอาญา  ดังนั้นต้องแยกแยะระหว่างผู้ที่กระทำความผิดกฎหมาย กับปัญหาประชาชน และต้องจำแนกให้ใครคือกลุ่มทุน และใครคือเกษตรกร

ร้อยเอกธรรมนัส ยังยืนยันว่า กรณีที่เกิดขึ้น ไม่ใช่การงัดข้อกัน ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะเรื่องนี้มีการพูดคุยกันตลอด และตนเองก็ได้หารือกันกับทุกฝ่าย ทั้งรัฐมนตรีและปลัดกระทรวง จึงไม่มีปัญหาใด ๆ และยังไม่ถึงกระบวนการที่ สปก.จะเข้าไปดำเนินการ

ส่วนที่ดินที่มีปัญหาที่อุทยานแห่งชาติทับลานมีปัญหามคาบเกี่ยวกับบางรีสอร์ทที่พรรคพลังประชารัฐเคยไปจัดสัมมนาเมื่อปี 2562 และต่อมาก็มีมติมติครม.นั้น ร้อยเอกธรรมนัส กล่าวว่า ตนไม่ทราบเรื่องนี้