“ศรีลังกา” ดึงไทยลงทุนเขต ศก.พิเศษ ให้สิทธิพื้นที่ 99 ปี สภาหอฯชี้โอกาสอื้อ

10 ก.ค. 2567 | 05:01 น.
อัพเดตล่าสุด :10 ก.ค. 2567 | 05:18 น.

สภาหอฯจี้ทะลวงอุปสรรคการค้าไทย-ศรีลังกา ดันค้า 1.4 หมื่นล้านโตต่อเนื่อง เร่งสองฝ่ายให้สัตยาบัน FTA มีผลบังคับใช้ ชี้โอกาสไทยมีเพียบ ทั้งส่งออกข้าว เมล็ดพันธุ์ รถยนต์ วัสดุก่อสร้าง ลงทุนห้างฯ โรงแรม ห้องเย็น ขณะศรีลังกาดึงไทยลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ ให้สิทธิพื้นที่ 99 ปี

“ศรีลังกา” เป็นหนึ่งในตลาดใหม่ที่มีศักยภาพของไทย โดยไทย-ศรีลังกาได้มีการลงนามความตกลงการค้าเสรี (FTA)ระหว่างกัน เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 ถือเป็น FTA ฉบับที่ 15 ของไทย โดยทั้งสองฝ่ายอยู่ในขั้นตอนภายในของแต่ละประเทศเพื่อนำสู่การให้สัตยาบันให้ความตกลงมีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติต่อไป

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ระหว่างวันที่ 23-24 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้นำคณะภาคเอกชนไทยเดินทางเยือนศรีลังกาเพื่อสานสัมพันธ์ และมองหาโอกาสทางการค้าใหม่ ๆ ให้กับผู้ประกอบการไทยโดยได้เยี่ยมชมงาน International Industry Expo 2024 จัดขึ้น ณ กรุงโคลัมโบ มีสินค้ามาจัดแสดงใน 25 ธุรกิจ รวมกว่า 1,000 บูท เป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ตลาดได้ หากได้พบกับตัวแทนจัดจำหน่ายที่น่าเชื่อถือ

“ศรีลังกา” ดึงไทยลงทุนเขต ศก.พิเศษ ให้สิทธิพื้นที่ 99 ปี สภาหอฯชี้โอกาสอื้อ

ในการเดินทางครั้งนี้สภาหอการค้าฯ ยังได้เข้าพบและหารือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของศรีลังกาถึงการส่งเสริมการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างกัน อาทิ รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนและที่ปรึกษาประธานาธิบดีศรีลังกา ปลัดกระทรวงการค้า ประธานหอการค้าซีลอน และประธานหอการค้านานาชาติประจำศรีลังกา ในโอกาสนี้สภาหอการค้าฯ ได้นำเสนอประเด็นเพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างกัน 4 ข้อคือ

1.การเร่งรัดกระบวนการให้สัตยาบันของทั้งสองฝ่าย เพื่อให้ FTA ไทย-ศรีลังกามีผลในทางปฏิบัติโดยเร็วที่สุด ซึ่งจะมีผลทำให้การค้าไทย-ศรีลังกาขยายตัวมากขึ้น 2.การนำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทยยังมีปัญหาติดขัดกฎระเบียบของศรีลังกาที่ต้องขอใบอนุญาตในการนำเข้าทุกครั้ง ทำให้ผู้นำเข้า เช่น ตัวแทนจำหน่าย โรงแรมหรือร้านอาหารไม่สะดวกในการนำเข้า โดยเฉพาะร้านอาหารไทยที่ต้องการนำเข้าข้าวหอมมะลิ ในทางกลับกันการนำเข้าข้าวบาสมาติ (จากอินเดีย)ไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตในการนำเข้าทุกครั้ง ซึ่งปัญหาเกิดจากการตีความพิกัดศุลกากร (HS Code) จึงนำเสนอให้ศรีลังกาช่วยพิจารณาแก้ไข เพื่อให้ไทยมีโอกาสส่งออกข้าวหอมมะลิไปศรีลังกา เพิ่มทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยวที่ไปเยือนศรีลังกามากขึ้น

3.ความต้องการนำเข้ารถยนต์จากไทยทั้งรถกระบะ และรถอีโคคาร์ของศรีลังกายังมีอีกมาก แต่ยังติดปัญหาเรื่องภาษีนำเข้าและมาตรการสนับสนุนทางภาษีในประเทศ จึงเสนอให้ทั้ง 2 ฝ่าย หารือเพิ่มเติมในส่วนของมาตรการสนับสนุนการนำเข้ารถดังกล่าว และ 4.สภาหอการค้าฯ สนับสนุนและเสนอให้ทั้ง 2 ประเทศยกเลิกการขอวีซ่าสำหรับการท่องเที่ยว เพื่อช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างกัน

“ศรีลังกา” ดึงไทยลงทุนเขต ศก.พิเศษ ให้สิทธิพื้นที่ 99 ปี สภาหอฯชี้โอกาสอื้อ

“ภาคธุรกิจไทยที่มีศักยภาพในศรีลังกามีในหลายธุรกิจ อาทิ ธุรกิจเกษตร ในการการส่งออกเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และเครื่องมือทางการเกษตร ธุรกิจประมง มีโอกาสทั้งในด้านการค้าและการลงทุน โดยศรีลังกายังต้องการการลงทุนทำธุรกิจจับปลาทะเลและการเลี้ยงปลานํ้าจืด และธุรกิจห้องเย็น ธุรกิจก่อสร้างและส่งออกวัสดุก่อสร้าง จากศรีลังกายังมีการพัฒนาเมืองต่อเนื่อง ธุรกิจอาหาร ศรีลังกาต้องการร่วมลงทุนกับไทยเพื่อแปรรูปและส่งออกไปยังตลาดเป้าหมายต่าง ๆ เช่น อินเดีย ตะวันออกกลาง สหรัฐอเมริกา อียู และมัลดีฟส์ เป็นต้น”

“ศรีลังกา” ดึงไทยลงทุนเขต ศก.พิเศษ ให้สิทธิพื้นที่ 99 ปี สภาหอฯชี้โอกาสอื้อ

ด้านการลงทุน ศรีลังกาต้องการการลงทุนจากไทยในสาขาธุรกิจบริการที่ไทยมีความชำนาญ อาทิ โรงแรม โรงพยาบาล สปา ร้านอาหาร และห้างสรรพสินค้า เป็นต้น โดยศรีลังกามีโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษพอร์ตซิตี้โคลัมโบ เป็นโครงการถมทะเลขยายเมืองหลวงโคลัมโบเพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการเงินแห่งใหม่ของภูมิภาคเอเชียใต้ ซึ่งได้เชื้อเชิญไทยเข้าลงทุนในธุรกิจธนาคาร ศูนย์การค้า โรงแรม และคอนโดมิเนียม ที่ไทยมีศักยภาพ โดยจะให้สิทธิประโยชน์ปลอดภาษีนิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดถึง 25 ปี สิทธิในพื้นที่ 99 ปี

สำหรับความร่วมมือระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับหอการค้าซีลอนมีมาอย่างยาวนาน โดย MOU ฉบับแรกที่ได้ลงนามร่วมกันตั้งแต่ปี 1988 ซึ่งกรอบความร่วมมือในฉบับดังกล่าวยังเป็นความร่วมมืออย่างกว้าง ๆ

“ในครั้งนี้ที่ผมได้มีโอกาสนำคณะนักธุรกิจจากสภาหอการค้าฯ มาเยือนศรีลังกา จึงถือเป็นโอกาสอันที่ทั้งสองฝ่ายจะหารือถึงรายละเอียดความร่วมมือในด้านต่างๆมากขึ้น และได้บรรลุข้อตกลงในการลงนาม MOU ฉบับใหม่ขึ้นมาเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อทั้ง 2 ประเทศ โดยในการพบกันครั้งนี้ หอการค้าซีลอนเน้นถึงความสำคัญในด้านธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจงานบริการที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างยิ่ง จึงเสนอให้ร่วมมือในด้านนี้เป็นอันดับต้น ๆ"นายสนั่น กล่าว

“ศรีลังกา” ดึงไทยลงทุนเขต ศก.พิเศษ ให้สิทธิพื้นที่ 99 ปี สภาหอฯชี้โอกาสอื้อ

ทั้งนี้จากที่ศรีลังกามีโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษพอร์ตซิตี้โคลัมโบ (Port City Columbo SEZ) ซึ่งเป็นโครงการถมทะเลขยายเมืองหลวงโคลัมโบ เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการเงินแห่งใหม่ของภูมิภาคเอเชียใต้ ประกอบด้วยศูนย์การประชุมนานาชาติ, ศูนย์การแพทย์นานาชาติจากสหรัฐอเมริกา, โรงเรียนนานาชาติจากสหราชอาณาจักร, มหาวิทยาลัยจากออกสเตรเลีย, ท่าเทียบจอดเรือยอร์ช, อาคารดิวตี้ฟรีกลางใจเมืองแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียใต้ ดำเนินการโดย One World DF จากประเทศสิงคโปร์และ China DF จากประเทศจีน ซึ่งมีความสนใจเชื้อเชิญนักลงทุนจากประเทศไทยเข้าลงทุนในธุรกิจ, ธนาคาร (Offshore Branch), ศูนย์การค้า, โรงแรม และคอนโดมิเนียม

เนื่องด้วยนักธุรกิจไทยมีศักยภาพในอุตสาหกรรมดังกล่าว จึงได้มอบสิทธิประโยชน์ปลอดภาษีนิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดถึง 25 ปี ได้สิทธิในที่ดิน 99 ปี นอกจากนั้นยังสามารถลงทุนโดยตรง ( FDI) ได้ด้วยสกุลเงินบาทเพื่อลดความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงิน

“ศรีลังกา” ดึงไทยลงทุนเขต ศก.พิเศษ ให้สิทธิพื้นที่ 99 ปี สภาหอฯชี้โอกาสอื้อ

“ในครั้งนี้คณะจากไทยได้เข้าพบกับ Dr.Ramesh Pathirana รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมศรีลังกา โดยในวาระแรก กระทรวงอุตสาหกรรมยืนยันว่า FTA ไทย-ศรีลังกามีผลทางทางปฎิบัติภายในเดือนมกราคม 2025 (2568) ดังนั้นในช่วงนี้ขอให้ช่วยเตรียมการให้กับผู้ประกอบการทั้ง 2 ฝ่าย และยังได้เข้าพบ Mr.Dinesh Weerakkody, Chairman, Board of Investment of Sri Lanka (BOI) นอกจากตำแหน่งสำคัญนี้แล้ว ยังดำรงตำแหน่งที่ที่ปรึกษาประธานาธิบดีศรีลังกา และยังเป็นประธานคณะกรรมการโครงการ New Port City Colombo อีกด้วย”

อย่างไรก็ดีทาง BOI ของศรีลังกาได้แจ้งว่า หากเทียบกับปีที่ผ่าน ๆ มา ปีนี้ ถือว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจหลาย ๆ อย่าง ชี้ให้เห็นว่าศรีลังกาพัฒนาขึ้นกว่าเดิมทั้งในเรื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจ จำนวนนักท่องเที่ยวที่มากขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่ดีขึ้น ค่าเงินก็แข็งค่าขึ้น แม้ยังไม่แข็งค่าเท่าเดิม ปัจจุบันอยู่ที่ 300รูปี ต่อดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น เป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุนที่จะมาลงทุนที่ศรีลังกา ซึ่งทางหอการค้าซีลอน ของศรีลังกาได้ให้ความสำคัญกับการค้าและการลงทุนกับต่างประเทศมาก ดังนั้นหากสภาหอการค้าฯ ของไทย มีประเด็นที่สำคัญเร่งด่วนสามารถส่งตรงถึงท่านได้ทุกเมื่อ