"ธรรมนัส" สั่งเปิดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำ กิโลฯละ 15 บาท

16 ก.ค. 2567 | 13:30 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.ค. 2567 | 13:31 น.

"ธรรมนัส" ใช้เงินกองทุนสงเคราะห์สวนยาง สั่งกรมประมงเปิดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำ กิโลฯละ 15 บาท ทั่วประเทศ หลังระบาดหนัก ลาม 16 จังหวัด เตรียมจัดทำคู่มือประชาชนต้องรู้ เจอ แจ้ง จับ จบ‼️

จากปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่มีการขยายวงกว้างมากขึ้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญและเร่งให้กรมประมงดำเนินการแก้ไข เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ นั้น

ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ครั้งที่ 2/2567 กล่าวว่า ในที่ประชุมได้มีมติร่วมกันในการดำเนินแผนมาตรการระยะเร่งด่วน คือการกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด และรับซื้อในราคา 15 บาท/กิโลกรัม ซึ่งเป็นที่พอใจของตัวแทนเครือข่ายชาวประมง

"ผมได้หารือกับนายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว เบื้องต้นจะใช้เงินจากกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ในระหว่างที่รอของบกลางในการรับซื้อเพื่อให้การแก้ปัญหาเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยด่วน และมอบหมายให้กรมประมงประสานกับจังหวัดเพื่อตั้งจุดรับซื้อภายในสัปดาห์หน้า สำหรับมาตรการอื่นๆ ให้ดำเนินการคู่ขนานกันไป"

 

สอดคล้อง นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กล่าวย้ำว่า ไม่มีการส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงอย่างเด็ดขาด ต้องกำจัดเท่านั้น ซึ่งกรมประมงจะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ที่มีความต้องการรับซื้อปลาหมอคางดำเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป สำหรับกรณีการตรวจสอบที่มาต้นทางการนำเข้าปลาหมอคางดำนั้น หากมีหลักฐานที่ชัดเจน ก็ยินดีจะดำเนินการต่อไปตามกระบวนการที่ถูกต้อง

\"ธรรมนัส\" สั่งเปิดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำ กิโลฯละ 15 บาท

นอกจากนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พ.ศ. 2567 – 2568 ภายใต้กรอบ 5 มาตรการ 12 กิจกรรม ระยะเวลาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 ถึง เดือนกันยายน 2568 ซึ่งได้รวบรวมร่างแผนปฏิบัติการตามมติที่ประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ระดับจังหวัด 16 จังหวัด (จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา สงขลา ตราด และชลบุรี) ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กรมประมงประชุมร่วมกับจังหวัดอีกครั้งเพื่อทบทวนในรายละเอียด งบประมาณ เพื่อให้เหมาะสมในแต่ละกิจกรรมและครอบคลุมการแก้ไขปัญหา

สำหรับ 5 มาตรการ 12 กิจกรรม ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด 4 กิจกรรม โดยมุ่งเน้นการกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ด้วยเครื่องมือและวิธีการต่าง ๆ มาตรการที่ 2 การกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการปล่อยปลาผู้ล่าอย่างต่อเนื่อง 2 กิจกรรม มุ่งเน้นการประเมินสถานภาพปลาหมอคางดำก่อนปล่อยลูกพันธุ์ปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพงขาว เป็นต้น 

\"ธรรมนัส\" สั่งเปิดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำ กิโลฯละ 15 บาท

มาตรการที่ 3 การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดได้ไปใช้ประโยชน์ เน้นการจัดหาแหล่งกระจายและรับซื้อ จัดหาแนวทางการใช้ประโยชน์ มาตรการที่ 4 การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายปลาหมอคางดำในพื้นที่เขตกันชน เน้นการสร้างความพร้อมในการรับมือเมื่อพบการแพร่ระบาดให้กับองค์กรประมงชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สำรวจและเฝ้าระวังในแหล่งน้ำที่ยังไม่พบการแพร่ระบาด และมาตรการที่ 5 การสร้างความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้กับทุกภาคส่วน พร้อมจัดทำคู่มือแนวทางการับมือเมื่อพบ

 

สำหรับอีกมาตรการที่สำคัญ คือโครงการวิจัยการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ในปลาหมอคางดำ เป็นการควบคุมการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำโดยการทำให้ประชากรปลาหมอคางดำเป็นหมัน โดยการศึกษาสร้างประชากรปลาหมอคางดำพิเศษที่มีชุดโครโมโซม 4 ชุด (4n) จากนั้นจะปล่อยปลาหมอคางดำพิเศษเหล่านี้ลงสู่แหล่งน้ำเพื่อให้ไปผสมพันธุ์กับปลาหมอคางดำปกติที่มีชุดโครโมโซม 2 ชุด (2n) การผสมพันธุ์นี้จะทำให้เกิดลูกปลาหมอคางดำที่มีชุดโครโมโซม 3 ชุด (3n) ซึ่งลูกปลาที่มีโครโมโซม 3 ชุดนี้จะกลายเป็นปลาหมอคางดำที่เป็นหมัน ไม่สามารถสืบพันธุ์ต่อได้

\"ธรรมนัส\" สั่งเปิดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำ กิโลฯละ 15 บาท

โดยมีแผนปล่อยพันธุ์ปลาหมอคางดำ 4n ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ทยอยปล่อยอย่างน้อย 250,000 ตัว ภายในระยะเวลา 15 เดือน (กรกฎาคม 2567 - กันยายน 2568) คาดว่าสามารถเริ่มปล่อยพันธุ์ปลาได้อย่างช้าสุดในเดือนธันวาคม 2567 อย่างน้อยจำนวน 50,000 ตัว อย่างไรก็ดีในที่ประชุมได้รายงานการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำจากแหล่งน้ำธรรมชาติทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567)  กำจัดปลาหมอคางดำได้ทั้งสิ้น 623,370 กิโลกรัม จำแนกเป็นปริมาณปลาหมอคางดำที่จับจากแหล่งน้ำธรรมชาติ 325,668 กิโลกรัม และปริมาณปลาหมอคางดำที่จับจากบ่อเพาะเลี้ยง 297,702 กิโลกรัม