ด้านมืด-ด้านสว่าง “ปลาหมอสีคางดำ” จากปลาสวยงาม สู่เอเลี่ยนสปีชีส์

11 ก.ค. 2567 | 03:49 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.ค. 2567 | 04:14 น.

ข่าวปลาหมอสีคางดำ ปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ ที่กำลังระบาดในแหล่งน้ำมากกว่า 10 จังหวัดทั่วประเทศ สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ และเศรษฐกิจ จากไปทำลายสัตว์น้ำอื่น ๆ ในแหล่งน้ำได้รับความเสียหาย รวมถึงส่งผลกระทบผู้เลี้ยงสัตว์น้ำมากขึ้นทุกขณะ

หน่วยงานกรมประมงในหลายพื้นที่ต้องออกประกาศจับตาย และหาทางกำจัด ซึ่งทางกรมประมงกำลังเร่งตรวจสอบต้นตอที่มาของปลาที่หลุดเล็ดลอดลงสู่แหล่งน้ำนั้น มาจากบริษัทที่ขออนุญาตนำเข้าพันธุ์ปลาหมอสีคางดำมาวิจัยพัฒนาเพื่อต่อยอด หรือจากผู้ลักลอบนำเข้า

สำหรับปลาหมอสีคางดำ (Blackchin Tilapia) ปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ (Alien Species) ชนิดพันธุ์ปลาต่างถิ่นรุกราน (Invasive alien species) ปรับตัวได้ดีทั้ง 3 น้ำ คือ น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม และเป็นปลาที่มีความแข็งแรง มีความอึดอยู่ในสภาพน้ำที่ไม่สะอาดได้ ซึ่งขณะนี้ระบาดในจังหวัดที่ติดชายฝั่งทะเล 14 จังหวัด ทำให้ตื่นตัวไล่ล่าปราบปลาตัวร้ายตัวให้หมดสิ้น ตามแนวทางการแก้ปัญหาเร่งด่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้วยวิธีการจับและเพิ่มการบริโภค

ด้านมืด-ด้านสว่าง “ปลาหมอสีคางดำ” จากปลาสวยงาม สู่เอเลี่ยนสปีชีส์

ข้อมูลเว็บไซด์ของกรมประมง รายงานว่า ไทยมีการส่งออกปลาหมอสีคางดำ เป็นปลาสวยงามต่อเนื่องช่วงปี 2556-2559 จำนวนมากว่า 320,000 ตัว มูลค่าส่งออกรวม 1,510,050 บาท และส่งออกไป 15 ประเทศ เช่น  แคนาดา ซิมบับเว ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย รัสเซีย มาเลเซีย อาเซอร์ไบจาน เลบานอน ปากีสถาน อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิสราเอล อิหร่าน โปแลนด์ และตุรกี โดยมีปริมาณการส่งออกรวมเฉลี่ยในแต่ละปีตั้งแต่ 10,000-100,000 ตัว ทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตว่า กรมประมงมีการอนุญาตให้นำปลาหมอสีคางดำเข้าในราชอาณาจักรเพียงรายเดียว เพื่อการวิจัยแลปรับปรุงพันธุ์ตามเงื่อนไขของกฎหมาย แล้วพ่อแม่พันธุ์ที่ใช้เพาะเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม เพื่อการส่งออกมาจากที่ไหนและใครเป็นผู้นำเข้า

 

 

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ยอมรับว่ามีสัตว์เอเลี่ยนส์สปีชีส์หลายชนิดระบาดในประเทศไทย ขณะที่ปลาหมอสีคางดำอาจมีที่มาได้ 2 สมมุติฐาน คือ 1.การลักลอบนำเข้ามาในประเทศ ตัวอย่างเคยมีการจับปลาปิรันย่าลักลอบนำเข้าได้ที่ดอนเมือง 2.การขออนุญาตนำเข้าปี 2553  เพื่อทดลองวิจัยปรับปรุงพันธุ์ปลานิล ซึ่งอาจมีการหลุดรอดได้

ทั้งนี้กรมประมง มีการรายงานว่า ในปี 2553 บริษัทเอกชนรายหนึ่งมีการนำเข้าจำนวน 2,000 ตัว ซึ่งพบว่ามีปลาที่มีสุขภาพไม่แข็งแรง และมีการตายจำนวนมากในระหว่างทาง ทำให้เหลือปลาที่ยังมีชีวิตแต่อยู่ในสภาพอ่อนแอเพียง 600 ตัว ซึ่งได้รับการตรวจสอบ ณ ด่านกักกันโดยกรมประมง ทั้งนี้เนื่องจากปลามีสุขภาพไม่แข็งแรง จึงมีการตายต่อเนื่อง จนเหลือเพียง 50 ตัว บริษัทจึงตัดสินใจหยุดการวิจัยในเรื่องนี้ โดยมีการทำลายซากตามมาตรฐานและแจ้งต่อกรมประมง พร้อมส่งตัวอย่างซากปลาซึ่งดองในฟอร์มาลีนทั้งหมด 50 ตัวไปยังกรมประมง 

ด้านมืด-ด้านสว่าง “ปลาหมอสีคางดำ” จากปลาสวยงาม สู่เอเลี่ยนสปีชีส์

หลังจากนั้น กรมประมงได้มีการแก้ไขประกาศกระทรวงฯ ห้ามนำเข้าปลาหมอสีคางดำ ในปี 2561 ซึ่งช่วงก่อนหน้าประกาศฉบับนี้เป็นช่วงที่มีการนำเข้าปลาหมอสีคางดำมาเพาะพันธุ์เพื่อการส่งออกอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่า ปลาหมอสีคางดำ หรือ ปลาหมอคางดำ ยังมีการลักลอบนำเข้ามาในประเทศไทยหรือไม่ เพราะมีเพียงรายเดียวที่นำเข้าและทำลายถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น กรมประมงจึงต้องเป็นผู้พิสูจน์ความถูกต้อง

อย่างไรก็ดีจนถึงขณะนี้ ภาครัฐยังมีการให้ข้อมูลกับประชาชนน้อยมาก ในเรื่องของปลาชนิดสามารถบริโภคได้ แต่เมื่อมีนามสกุลเป็น “เอเลี่ยนสปีชีส์” ทำให้คนกลัว หากบอกว่าปลาชนิดนี้เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ปลานิล ทำเมนูต่าง ๆ ได้เหมือนเนื้อปลาทั่วไป มีโปรตีนและมีคุณค่าทางโภชนาการ ส่งเสริมให้มีการจับและบริโภคเพิ่มขึ้น อาจกลายเป็นเมนูที่ได้รับความนิยมได้ ผลที่จะตามมาคือ ปลาจะลดลงตามลำดับ

ดังนั้นการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าและการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ ต้องทำแบบบูรณาการทุกภาคส่วนต้องผนึกกำลังกันปฏิบัติตามแนวทางของกระทรวงเกษตรฯ คือ  ควบคุมและกำจัดปลาหมอสีคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด ปล่อยปลาผู้ล่าอย่างต่อเนื่อง กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ สำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายประชากรปลาหมอสีคางดำในพื้นที่เขตกันชน สร้างความรู้ และการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอสีคางดำ หาแนวทางป้องกันพร้อมทั้งส่งเสริมและกระตุ้นให้จับปลาหมอสีคางดำให้นำมาใช้ประโยชน์เพื่อสร้างรายได้ รวมถึงการติดตาม ประเมินผล และบริหารโครงการ เพื่อลดปริมาณปลาหมอสีคางดำให้ได้มากที่สุด