รง.ปลาป่นโอดรับซื้อ “หมอคางดำ” 10บาท/กก. เสี่ยงขาดทุน สะเทือนส่งออกหมื่นล.

24 ก.ค. 2567 | 23:00 น.

สมาคมปลาป่นฯ โอด แบกราคาวัตถุดิบ “ปลาหมอคางดำ” กิโลฯ ละ 10 บาท ผวาธุรกิจเจ๊ง ชี้สูงกว่าหัวปลาทะเลป้อนโรงงาน 3-5 บาท หวั่นส่วนผสมปลาพันธุ์ใหม่ในสินค้า ถูกจีนแบน ผวาเสียตลาด 1.1 หมื่นล้าน ขณะสมาคมประมงฯ แนะรัฐเพิ่มขนาดเรือประมงชั่วคราว 6 เดือน กวาดหมดน่านนํ้าไทย

 "ปลาหมอคางดำ” เป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ 1 ใน 13 ชนิดที่ถูกห้ามนำเข้าไทย ย้อนไปเมื่อปี 2559 พบมีการหลุดรอดเข้าบ่อเลี้ยงกุ้งของเกษตรกรได้สร้างความเสียหายและส่งผลกระทบต่อสัตว์นํ้าพื้นถิ่นเป็นอย่างมาก ในครั้งนั้นกรมประมงได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยการออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์นํ้าที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยงพ.ศ.2561 และประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์นํ้าที่ห้ามเพาะเลี้ยงใน ราชอาณาจักร พ.ศ. 2564 ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 บังคับใช้เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564

ปลาหมอคางดำ

ปัจจุบันรัฐบาลได้ยกเรื่อง “ปลาหมอคางดำ” เป็นวาระแห่งชาติ ที่จะช่วยกันกำจัดเพื่อให้พ้นระบบนิเวศแหล่งนํ้าของประเทศไทย เนื่องจากปลาหมอคางดำในการขยายพันธุ์ใช้เวลาเพียง 22 วัน โดยออกไข่ได้ครั้งละ 300-600 ฟอง เมื่อออกไข่เสร็จ ปลาตัวผู้ก็จะอมไข่ไว้ แล้วก็อดอาหาร 2-3 สัปดาห์ เพื่อฟักไข่ในปาก แล้วจะพ่นออกมา โดยปลาตัวเมียเมื่อออกไข่เสร็จก็พร้อมที่จะผสมพันธุ์ต่อ โดยมาตรการกำจัดปลาหมอคางดำวิธีการหนึ่งคือ การส่งเข้าโรงงานเพื่อผลิตเป็นปลาป่น, ใช้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ผลิตนํ้าหมักชีวภาพ โดยกรมประมงให้ราคานำจับ 10-15 บาท/กิโลกรัม (กก.) เพื่อเพิ่มแรงจูงใจ โดยจะตั้งจุดรับซื้อใน16 จังหวัด ที่มีการแพร่ระบาด

นายอำนวย เอื้ออารีมิตร

นายอำนวย เอื้ออารีมิตร นายกสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงกรณีความร่วมมือจากจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ ที่ส่งผลต่อระบบนิเวศในแหล่งนํ้า ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยประมงสมุทรสาครประกาศราคารับซื้อปลาหมอคางดำขั้นตํ่า ณ จุดรับซื้อหรือหน้าแพ เริ่มต้นที่ราคา 8 บาทต่อ กก. แล้วส่งต่อให้ผู้รวบรวมส่งขายโรงงานปลาป่นราคา 10 บาทต่อ กก.

 

“ราคากิโลกรัมละ 10 บาท เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากการผลิตปลาป่น มีการแบ่งชนิดปลาระหว่างปลานํ้าจืดกับปลาทะเล ซึ่งก่อนหน้านั้นก็ได้รับปากไว้กับร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (6 พ.ค.67) จะรับซื้อที่ตลาดมหาชัยในราคากิโลกรัมละ 7 บาท ในขณะนั้นราคาปลาป่นเฉลี่ยกิโลกรัมละ 40 บาท และหากให้ซื้อปลารับวันละ 400-500 กิโลกรัม ไม่มีปัญหา แต่ถ้าวันละ 5,000 ถึง 1 หมื่นตัน โรงงานขาดทุนแน่นอน เพราะขณะนี้ราคาปลาป่นโลกก็ปรับตัวลงมาแล้ว”

รง.ปลาป่นโอดรับซื้อ “หมอคางดำ” 10บาท/กก. เสี่ยงขาดทุน สะเทือนส่งออกหมื่นล.

ทั้งนี้การให้โรงงานมารับซื้อวัตถุดิบในราคาสูง แล้วยอมขาดทุนเป็นไปไม่ได้ ขณะเดียวกันไม่สามารถวัดค่าโปรตีนได้เมื่อใช้ปลาหมอคางดำผลิตเป็นปลาป่น ขณะที่กลิ่นปลาป่นที่แรงขึ้นจากวัตถุดิบปลาหมอคางดำคู่ค้าจะรับได้หรือไม่ จากปัจจุบันใช้ปลาที่จับจากทะเลในการผลิตปลาป่นเป็นหลักชาวประมงลงทุน ลงแรงจับปลาขายยังขาดทุน ดังนั้นในมุมองส่วนตัวไม่น่าส่งเสริมให้คนมาจับส่งขายให้โรงงานควรจับเพื่อนำไปบริโภค นำไปแปรรูปเป็นอาหาร หรือเข้าสู่อุตสาหกรรมอื่น เช่น โรงงานทำปลาร้า มากกว่า

รง.ปลาป่นโอดรับซื้อ “หมอคางดำ” 10บาท/กก. เสี่ยงขาดทุน สะเทือนส่งออกหมื่นล.

นายอำนวย กล่าวอีกว่า ปัจจุบันโรงงานปลาป่น ใช้วัตถุดิบหัวปลาทะเล มีโปรตีนระดับ 45-50% แต่เมื่อใช้ปลาหมอคางดำ ผสมเข้าไปได้โปรตีน 51-52% หมายความว่ามีโปรตีนที่ดีกว่า เพราะมีเนื้อปลา ซึ่งคุณภาพโปรตีนสูงในประเทศก็ไม่มีใครใช้ นอกจากเพื่อการส่งออก ซึ่งวันนี้การส่งออกก็ขายลำบาก เพราะผู้ซื้อเองก็สามารถที่จะเลือกซื้อปลาป่นได้ว่า จะใช้ปลาทะเลหรือปลานํ้าจืด แต่ถ้ามีปลานํ้าจืดปะปนไปกับปลาทะเล ลูกค้าอาจจะไม่ยอมรับ ก็จะมีปัญหาตามมาอีก

“เวลานี้จีน เป็นคู่ค้ารายใหญ่ของสินค้าปลาป่นไทย ซึ่งเขาสามารถแยกแยะได้ว่าปลาที่สั่งซื้อเป็นทูน่า หรือซาร์ดีน แต่ถ้ามีปลานํ้าจืดมาผสม ก็กลัวถูกเขาเคลมยาว ท้ายสุดอาจจะโดนแบน (ปี 2566 ไทยส่งออกปลาป่น 1.1 หมื่นล้านบาท โดยส่งไปตลาดจีนสัดส่วนกว่า 80%) ดังนั้นต้องให้เวลากับทางสมาคมได้มีการเจรจากับผู้ซื้อว่ากรณีหากใช้ปลาหมอคางดำที่จัดอยู่ในนํ้ากร่อย จะถือว่าเป็นปลาทะเลได้หรือไม่”

ปัจจุบันหัวปลาทะเล ราคาอยู่ ที่ 5-7 บาทต่อ กก. แต่ถ้าเป็นปลาจับจากทะเลเลย ราคา 7-9 บาทต่อ กก.ซึ่งมีคุณภาพโปรตีนสูงกว่า 60% แน่นอน เพราะได้คุณภาพมากกว่า ประกอบกับราคาปลาป่นโลกเวลานี้ปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งคู่ค้าจากจีนก็ซื้อในราคาตามภาวะที่เป็นจริง จะให้รับซื้อสวนทางกับตลาดก็คงทำไม่ได้ โดยเวลานี้ราคาปลาป่นปรับลดจาก 1,300 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันเมื่อต้นปี เหลือ 1,100 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เมื่อมาคิดคำนวณเป็นกิโลกรัมตกประมาณ 5 บาทแล้ว ที่ผ่านมาทางสมาคมฯก็พยายามประกาศราคาเพื่อให้ชาวประมงอยู่ได้ เพราะจะให้ราคาตามตลาดโลกก็ลำบาก

นายมงคล สุขเจริญคณา

ด้านนายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การกำจัดปลาหมอคางดำหากจะให้ได้ผล ขอให้ออกประกาศกรมประมง ผ่อนผันให้เรืออวนรุนตั้งแต่ 9 ตันกรอส ลงมา สามารถใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพอื่นๆ ทำการประมงได้ในแม่นํ้า ลำคลอง หนองบึง และแนวชายฝั่งทะเลที่มีการระบาดของปลาหมอคางดำ คาดจะใช้เวลาภายใน 6 เดือนในการจับ และทำให้ปริมาณปลาหมดไป หรือลดลงอย่างมาก

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,012 วันที่ 25-27 กรกฎาคม พ.ศ. 2567