กยท.ผนึกเอกชน ล่า “ปลาหมอคางดำ” ใช้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใส่ต้นยาง

18 ก.ค. 2567 | 08:51 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ค. 2567 | 08:51 น.

“เพิก” ประธานบอร์ด กยท. เปิดภารกิจล่า ปลาหมอคางดำ ผนึกเอกชนใช้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ งบนำร่อง 50 ล้านบาท ซื้อปลาราคากิโลฯ ละ 15 บาท ใน 16 จังหวัดที่มีการระบาด

ในแต่ละปีการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มีการจัดหาปุ๋ยให้ชาวสวนยางที่ได้รับทุนปลูกแทน ประมาณ 2 ล้านไร่  เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 มาตรา 37 วรรค 2 ที่ได้บัญญัติไว้ว่า การปลูกแทน ให้ส่งเสริมและสนับสนุนโดยการจ่ายให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางซึ่งยางพันธุ์ดี พันธุ์ไม้ยืนต้น พันธุ์พืช ปุ๋ย เครื่องมือเครื่องใช้ จัดบริการอย่างอื่นช่วยเหลือ หรือจ่ายเงินให้ก็ได้ 

โดยการจ่ายปุ๋ยมีการแบ่งออกเป็นช่วง 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 ต้นฤดูฝน และ ช่วงที่ 2 ก็คือช่วงปลายฝน ใช้งบต่อปี กว่า 1,600 ล้านบาท และที่ผ่านมา กยท. ได้จ่ายเงินจะจ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรงพร้อมกับให้แนบหลักฐาน ใบเสร็จรับเงินหรือใบส่งของ พร้อมกับรายงานการตรวจสวนแบบกลุ่มที่เกษตรกรลงลายมือชื่อรับรองการใส่ปุ๋ยด้วย

คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ

ล่าสุด ( 16 ก.ค.67) ที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ครั้งที่ 2/2567 ที่มีร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ได้มีมติร่วมกันในการดำเนินแผนมาตรการระยะเร่งด่วน คือการกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด และรับซื้อในราคา 15 บาท/กิโลกรัม ในเบื้องต้นจะใช้เงินจากกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ในระหว่างที่รอของบกลางในการรับซื้อเพื่อให้การแก้ปัญหาเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยด่วน

เพิก เลิศวังพง

 

นายเพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ด กยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  กยท.มีงบซื้อปุ๋ยอินทรีย์อยู่แล้ว  พร้อมสูตรปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพที่จะใช้ปลาหมอคางดำ ตามมาตรฐานของกรมวิชาการเกษตร เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำที่ผลต่อระบบนิเวศอย่างรุนแรง สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน ประเดิมใช้งบ 50 ล้านบาท เพื่อซื้อปลาในราคา 15 บาทต่อกิโลกรัม คาดจะใช้เวลา 1 ปี ระหว่างปี 2567-2568 โดยทำงานร่วมกับ บริษัท อินโนฟาร์ม ไบโอเทค จำกัด (บจก.) ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์ย์ครบวงจร ภายใต้สินค้า “อินโนฟาร์ม”

สำหรับวิธีการดำเนินงานให้นำปลาหมอคางดำ (Sorotheodon Melanotheron) เข้าสู่สต๊อกวัตถุดิบของบริษัท หลังจากนั้นให้นำสู่กระบวนการเพื่อผลิตปุ๋ยหมัก มีขั้นตอนดังนี้

1.ขั้นตอนการทำปุ๋ยหมัก ให้นำปลาหมอคางดำ  45% มาย่อยให้ขนาดเล็กลงแล้วนำมาผสมกับวัตถุดิบอื่น เช่น ชานอ้อย 20% ,กากถั่วเหลือง 5% ,กากตะกอนโรงงานอุตสาหกรรม 25% และโดโลไมท์ 5% ใช้ระยะเวลาการหมัก 30 วัน และทุก ๆ 7 วัน สเปรย์เชื้อจุลินทรีย์ ARDA1 ชนิดเข้มข้นเพื่อช่วยในกระบวนการย่อยสลาย พร้อมทั้งทำการกลับกองปุ๋ยหมักเพื่อเติมออกชิเจน

2. เมื่อหมักได้ครบ 30 วัน ตรวจสอบคุณภาพครั้งที่ 1 เช่น อินทรียวัตถุ (OM) , EC , pH และดัชนีการงอกของเมล็ด (germination index : Gl)

 

3.ปุ๋ยหมักที่ได้ตรงตามมาตรฐานที่กำหนด จึงนำเข้าสู่กระบวนการคักแยกวัตถุดิบและตีปันละเอียด บรรจุใส่กระสอบจากนั้นทำการตรวจสอบคุณภาพครั้งที่ 2 

ชาวประมงพบปะปนอยู่ในปลาที่จับได้จากทะเล

ส่วนกรณีผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพมีขั้นตอนดังนี้

1. ใช้ปลาหมอคางดำ 45% , กากน้ำตาล 20% , น้ำเปล่า 20% เชื้อจุลินทรีย์ ARDA 2 ชนิดเข้มข้น 10 % และกากถั่วเหลือง 5% หมักในถังหมักปริมาตร 1,000 ลิตร

2. เปิดปั๊มลมเพื่อเติมอากาศเข้าถังหมัก ทุก ๆ 7 วัน ใช้ระยะเวลาในการหมัก 30 วัน เมื่อครบกำหนดแล้วให้ทำการตรวจสอบคุณภาพของปุ๋ยน้ำหมัก 1 เช่น อินทรียวัตถุ (OM) , EC , pHH และดัชนีการงอกของเมล็ด (germination index : GI) เป็นต้น

3. บรรจุใส่ภาชนะเพื่อนำไปใช้ต่อไป

นายเพิก กล่าวว่า ในการดำเนินการดังกล่าว กยท.ได้ 2 เด้ง คือ ได้ช่วยรัฐบาล และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินงานตามนโยบายโดยจะมีการตั้งจุดรับซื้อปลาทุกจังหวัดที่มีการแพร่ระบาด ( จับตายเท่านั้น) เพื่อนำไปผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ต่อไป ดังนั้นขอเชิญชวนนักล่าทั้งหลาย จับตาย "ปลาหมอคางดำ" มีเงินรางวัลนำจับกิโลกรัมละ 15 บาท สามารถดำเนินการได้ทันที ในพื้นที่ 16 จังหวัดที่มีการระบาดของปลา ได้แก่ จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี สงขลา นครศรีธรรมราช ตราด และชลบุรี