วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง สส.พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำเพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงการตรวจสอบ 11 บริษัทส่งออกที่ระบุในระบบว่าส่งออกปลาหมอคางดำ ว่า ขณะนี้ได้เอกสารมาบางส่วน ยังไม่ครบ ซึ่งตามรายงานมีการส่งออกไป 17 ประเทศ 320,000 ตัว ตลอด 4 ปี (2556-2559) จากทั้งหมด 11 บริษัท โดยมี 1 บริษัทที่กรมประมงแจ้งว่า ติดต่อไม่ได้
นพ.วาโยกล่าวว่า โดย 10 บริษัท กรมประมงรายงานมาว่า มีความผิดพลาด และกรมประมงได้นำเสนอหลักฐานอื่นประกอบ 3 ชิ้น ได้แก่ ใบตรวจสัตว์ที่ด่านตรวจสัตว์น้ำทางเรือ ใบส่งสินค้าขาออกของด่านศุลกากร และ invoice ซึ่งระบุว่า ปลาที่ส่งออกไปคือ ปลาหลังเขียว และ ปลาหมอมาลาวี โดยกรมประมงให้ข้อมูลกับคณะอนุฯว่า เป็นความคลาดเคลื่อนของระบบ ทำให้ระบุชื่อชนิดปลาที่ส่งออกไป คือ ปลาหมอคางดำ ซึ่งไม่ใช่
“ผมจึงได้ถามว่า ระบุชื่อเป็นปลาหมอคางดำได้อย่างไร ในเมื่อเป็นบริษัทที่ค้าขายสัตว์น้ำ หรือสัตว์ส่งออกเป็นอาชีพหลัก และเป็นผู้ประกอบการในนามบริษัทนิติบุคคล ซึ่งกรมประมงตอบกลับมาว่า บริษัทไม่ได้ลงชื่อระบุตัวสินค้าเอง แต่เป็น ชิปปิ้งเป็นคนลงให้ กรมประมงจึงนำหลักฐาน 3 ชิ้นดังกล่าวมาแสดงว่า ปลาที่ส่งออกไปไม่ใช้ปลาหมอคางดำ”นพ.วาโยกล่าว
นพ.วาโยกล่าวว่า กรมประมงแจ้งว่า ได้บันทึกคำให้การของทั้ง 10 บริษัทที่ติดต่อได้ ว่า 6-7 บริษัท เป็นการส่งออกปลาหมอมาลาวี ส่วนบริษัทที่เหลือเป็นการส่งออกปลาหลังเขียว
นพ.วาโยกล่าวว่า หลังจากนี้ คณะอนุฯจะหารือกันว่า หลักฐานทั้ง 3 ชิ้นถูกต้องหรือไม่ ซึ่งหลังจากคณะกรรมการอนุฯได้รับเอกสารเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา กมธ.หลายคนได้กลับไปเอกสารจำนวนมากอย่างละเอียดและพยายามตั้งคำถามเพิ่มเป็นสิบๆ คำถาม เพื่อสอบถามกรมประมงกลับไป เนื่องจากเอกสารบางส่วนยังมีข้อสงสัย
“บางบริษัทเป็นบริษัทแม่บริษัทลูกกัน เปิดบริษัทแล้วมาขอส่งออกปี 56 พอปี 57 ปิดบริษัทเก่าแล้วมาขอในนามอีกบริษัทหนึ่ง เพราะฉะนั้น ทั้งสองบริษัทตัวแทนส่งออกคนเดียวกัน บริษัทหนึ่งปิดกิจการไปแล้ว แล้วมาเปิดบริษัทใหม่”นพ.วาโยกล่าว
นพ.วาโยกล่าวว่า อีกปัญหาคือ กรมประมงอ้างมาในรายงานว่า ในช่วงที่มีการส่งออกของ 11 บริษัท ชื่อปลาหมอคางดำภาษาไทยยังไม่มี ดังนั้นเวลาระบุชื่อจะยึดภาษาไทยเป็นหลัก เมื่อลงชื่อปลาหมอมาลาวีไม่มี จึงระบุชื่อว่าเป็นปลาหมอเทศข้างลายทั้งหมด โดยอ้างว่าไม่ได้ดู ไม่ทราบชื่อวิทยาศาสตร์และชื่อสามัญจริงของปลาหมอมาลาวี
“เพราะในระบบเป็นชื่อปลาหมอเทศข้างลาย แต่ชื่อวิทยาศาสตร์ดันเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของปลาหมอคางดำ คือ Sarotherodon melanotheron Ruppell”นพ.วาโยกล่าว
ทั้งนี้ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเรียก 11 บริษัทมาชี้แจง โดยหลังจากนั้นคณะอนุฯจะเชิญมาชี้แจงอีกครั้ง