ไขปริศนาที่ซ่อนอยู่ จากปลาลักลอบนำเข้า ถึง “ปลาหมอคางดำ”

02 ส.ค. 2567 | 06:48 น.
อัพเดตล่าสุด :02 ส.ค. 2567 | 07:25 น.

จากปัญหาปลาหมอคางดำที่แพร่ระบาดอยู่ในหลายจังหวัด ที่กำลังเป็นกระแส นอกจากจะทำให้สังคมตระหนักถึงปัญหาปลาต่างถิ่นรุกรานแล้ว ยังทำให้ทราบถึงอีกหลายปัญหาที่ซ่อนอยู่ภายใต้วิกฤตครั้งนี้

เฉพาะอย่างยิ่งการนำเข้า เพาะเลี้ยง และส่งออกสัตว์น้ำ โดยไม่ได้รับอนุญาต สะท้อนให้เห็นถึงการขาดระบบการควบคุมและตรวจสอบติดตามที่เข้มงวดของเจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่รับผิดชอบ กระทั่งเกิดผลเสียต่อระบบนิเวศ และเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างรุนแรง

ก่อนมีกฎกระทรวงห้ามนำเข้า เพาะเลี้ยง ปลาและสัตว์น้ำบางชนิด ในปี 2560 ไทยมีช่องว่างที่ผู้ประกอบการสามารถนำเข้าปลาสวยงามมาได้แบบถูกกฎหมายและขาดการควบคุมของภาครัฐ รวมถึงสัตว์น้ำในบัญชีไซเตส ที่มักถูกแอบลักลอบนำเข้ามาขายและจำหน่าย จนกระทั่งเริ่มพบสัตว์น้ำต่างถิ่นในแหล่งน้ำสาธารณะของไทย จึงนำไปสู่การออกกฎกระทรวงกำหนดชนิดหรือลักษณะของสัตว์น้ำ เพื่อกำกับดูแลการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่ประกาศใช้ในปี 2561

แม้มีรายงานการจับกุมการนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นอยู่บ้าง ยกตัวอย่างเช่น การจับปลาสวยงามที่นำเข้าจากประเทศเวียดนามผ่านทางด่านพรมแดนไทย-กัมพูชาในปี 2563 หรือ การจับกุมผู้แอบเพาะเลี้ยงปลาปิรันย่ากลางกรุงเทพมหานคร หรือกระทั่งล่าสุดในช่วงเดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา กับการจับกุมการนำเข้าปลาตะพัดสวยงาม มูลค่ากว่า 288,000 บาท ที่ท่าอากาศยานหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ทั้งนี้จะมั่นใจได้อย่างไรว่า ไม่มีการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำต้องห้ามมาเพาะเลี้ยง เพราะที่จับได้อาจเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น เห็นได้จากปัญหาสัตว์น้ำต่างถิ่นที่กำลังรุกรานระบบนิเวศในหลายพื้นที่ ยกตัวอย่าง ปลาหมอบัตเตอร์ ที่กำลังสร้างปัญหาในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนสิริกิติ์ ที่ถูกกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงปลาสวยงามนำเข้ามาเพาะเลี้ยง และไม่ทราบว่า หลุดหรือปล่อยลงแหล่งน้ำจนเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อย ๆ

ไขปริศนาที่ซ่อนอยู่ จากปลาลักลอบนำเข้า  ถึง “ปลาหมอคางดำ”

เกิดคำถามกับหน่วยงานที่รับผิดชอบว่า มีมาตรการควบคุมตรวจสอบติดตามสัตว์น้ำต่างถิ่นนี้อย่างไร? หลังจากประกาศกระทรวงมีผลบังคับใช้ในปี 2561 นอกจากทราบว่า พบสัตว์น้ำต่างถิ่นในแหล่งน้ำสาธาณะแล้ว ได้ติดตามหรือไม่ว่า ผู้เพาะเลี้ยงหรือครอบครองอยู่ ได้ดำเนินการทำลายอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของภาครัฐหรือไม่ หรือสัตว์น้ำเหล่านั้นถูกเคลื่อนย้ายไปที่ใด มีการแอบปล่อยลงแหล่งน้ำสาธารณะหรือไม่ เพราะสิ่งเหล่านี้ อาจเป็นคำตอบของปัญหาสัตว์น้ำต่างถิ่นรุกรานระบบนิเวศไทยในปัจจุบัน

ไขปริศนาที่ซ่อนอยู่ จากปลาลักลอบนำเข้า  ถึง “ปลาหมอคางดำ”

ที่สำคัญจาก พ.ร.ก.ประมง ปี 2558 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้ส่งออก ต้องแจ้งแหล่งที่มาของสัตว์น้ำเหล่านั้น ก็ต้องถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ได้ตรวจจริงหรือไม่ โดยเฉพาะ 11 บริษัท ที่มีรายงานส่งออกปลาหมอคางดำ (ในจำนวนนี้ 1 รายระบุเป็นการส่งออกลูกพันธุ์ปลานิล) จนถึงปี 2559 เอาปลาเหล่านั้นมาจากที่ไหน รวมไปถึงปลาห้ามเพาะเลี้ยงต่าง ๆ ที่ยังมีรายงานการส่งออกอยู่จนถึงวันนี้ ส่งออกไปได้อย่างไร ปลาเหล่านั้นมาจากแหล่งใด เหตุใด ภาครัฐไม่เอะใจสักนิดเลยว่า สัตว์น้ำที่ส่งออกเหล่านั้นเป็นสัตว์ต่างถิ่นที่ห้ามนำเข้า

นอกจากนี้ หากเดินสำรวจตลาดปลาสวยงามในกรุงเทพฯ ราชบุรี หรือที่อื่น ๆ เชื่อว่า น่าจะพบปลาสวยงามต่างถิ่น หรือสัตว์น้ำแปลกๆ ให้เลือกซื้อได้ แต่สัตว์เหล่านั้นได้รับอนุญาตนำเข้ามาอย่างถูกต้องหรือไม่ ดังนั้น จากวิกฤตปลาหมอคางดำรุกราน ก็น่าจะถึงเวลาแล้วที่ไทย โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องปรับปรุงมาตรการควบคุมป้องกันการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นให้เข้มงวดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมกับการตรวจติดตามการส่งออกว่า สัตว์น้ำที่ส่งออกเป็นชนิดใด มาจากแหล่งใด และเป็นสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงหรือไม่ ดีกว่า ปล่อยให้มีรายงานการส่งออกมาแล้วค่อยมาสงสัยว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร และคงไม่อ้างว่า เกิดจากการกรอกข้อมูลผิดอีกครั้ง

สำหรับปัญหาสัตว์น้ำต่างถิ่นรุกรานมีอยู่แล้ว ต้องเร่งแก้ไขทันที พบที่ใดก็กำจัด ไม่ปล่อยให้กระจายออกไปสร้างปัญหาเป็นวงกว้างแล้วค่อยมาลงมือ เพราะปัญหาอาจขยายเป็นวงกว้างและซับซ้อนจนอาจต้องใช้งบประมาณจำนวนมากและเวลานานหลายปี และเชื่อว่า หากภาครัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินตามมาตรการและข้อกฎหมายที่วางไว้อย่างจริงจัง ทั้งการควบคุมติดตามการนำเข้า และการส่งออก ไม่ปล่อยปะละเลยเหมือนกับที่ผ่านมา ปัญหาสัตว์น้ำต่างถิ่นรุกรานระบบนิเวศ น่าจะลดลงได้ในอนาคต

บทความโดย : สมเจตน์ สุขมงคล ผู้เชี่ยวชาญ และที่ปรึกษาด้านสัตว์น้ำ