ส่งออกข้าวครึ่งหลัง-ปี 68 ส่อวูบ อินเดียคัมแบ็ค ผลผลิตโลกล้นตลาด

03 ส.ค. 2567 | 07:29 น.
อัพเดตล่าสุด :03 ส.ค. 2567 | 07:52 น.

2 บิ๊กส่งออกข้าว “เอเซียโกลเด้นไรส์-ธนสรรไรซ์” ส่องตลาดครึ่งปีหลัง และแนวโน้มปี 2568 เสี่ยง ตั้งรับ “อินเดีย” คัมแบ็คส่งออก ขณะประมูลขายข้าวอินโดฯ ล็อตใหม่ 3 แสนตัน ไทยส่อแห้ว จากราคาสูงกว่าเวียดนาม 20 ดอลลาร์ต่อตัน ส.ส่งออกข้าวไทย ห่วงปี 68 ผลผลิตข้าวโลกล้นตลาด กดราคาวูบ

สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ปรับเป้าหมายการส่งออกข้าวใหม่เป็นรอบที่ 3 ของปีนี้ ( ณ 31 ก.ค. 67) คาดทั้งปี 2567 จะส่งออกได้ที่ 8.2 ล้านตัน มูลค่า 1.91 แสนล้านบาท โดยอันดับ 1 ชนิดข้าวส่งออกเป็นข้าวขาว 5.3 ล้านตัน รองลงมา เป็นข้าวหอมมะลิ 1.3 ล้านตัน ข้าวนึ่ง 0.8 ล้านตัน ข้าวหอมไทย 0.5 ล้านตัน และข้าวเหนียว 0.3 ล้านตัน มีปัจจัยบวกจากความต้องการนำเข้าข้าวเพื่อใช้บริโภคและเก็บเป็นสต็อกเพื่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศผู้นำเข้ายังมีต่อเนื่อง ประกอบกับอินเดียยังคงมีนโยบายจำกัดการส่งออกข้าว

นายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์

นายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ ประธานบริษัท เอเซียโกลเด้นไรซ์ จำกัด (บจก.) ผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของประเทศ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถาน การณ์ส่งออกข้าวไทยปี 2567 ยังมีการส่งออกที่ดี เฉพาะอย่างยิ่งประเทศอินโดนีเซีย ที่มีการนำเข้าข้าวจากปีที่แล้วต่อเนื่องมาถึงปีนี้ ส่งผลให้ในครึ่งปีแรกปีนี้ราคาข้าวส่งออกในภาพรวมทุกตลาดปรับตัวดีขึ้น และไทยยังได้รับอานิสงส์จากอินเดียจำกัดการส่งออกในกลุ่มข้าวขาว ส่วนในครึ่งหลังปีนี้ คาดอินโดนีเซียจะมีการนำเข้าข้าวต่อเนื่อง แต่อาจจะลดความร้อนแรงลง ในเชิงของราคาข้าวในประเทศอาจจะไม่ดีเท่าในครึ่งปีแรก แต่หากเปรียบเทียบกับราคาข้าวในช่วงหลายปีที่ผ่านมาถือว่าปีนี้อยู่ในระดับสูง

“หากอินเดียกลับมาส่งออกข้าว ย่อมมีผลทำให้ราคาข้าวโลกปรับตัวลงบ้าง ซึ่งต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้งว่าการส่งออกของเขาจะออกมารูปแบบใด จะแบบไม่จำกัดเหมือนในอดีตหรือไม่ แต่หากเขาควบคุมปริมาณการส่งออกก็จะทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกไม่สวิงลงมาก วันนี้ยังตอบยาก ส่วนอิรักที่จะกลับมาปลูกข้าวครั้งแรกในรอบ 2 ปี มองว่าอาจจะมีผลบ้าง แต่คาดพื้นที่การเพาะปลูกน่าจะยังไม่มาก”

 

เปิด 10 อันดับผู้ส่งออกข้าวไทย 6 เดือนแรกปี 2567

 

นายสมบัติ กล่าวอีกว่า รัฐบาลถือว่าโชคดี เพราะเป็นจังหวะที่อินเดียชะลอการส่งออกข้าว ขณะที่อินโดนีเซียเร่งการนำเข้า ด้วย 2 ปัจจัยหลักนี้ที่มาช่วยขับเคลื่อนทำให้ไม่เป็นภาระของรัฐบาล และเป็นประโยชน์กับประเทศไทยที่ส่งออกทั้งแง่ปริมาณ และมูลค่าเพิ่มขึ้น

 

“อย่างไรก็ดี ปัญหาค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูง และตู้สินค้าขาดแคลน ถือเป็นอุปสรรคใหญ่มาก จะส่งผลกระทบยาวไปถึงปีหน้า โดยเฉพาะการขนสินค้าข้าวส่งมอบให้ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีการนำเข้าข้าวหลักจากเวียดนามและไทย ที่เขาไม่ค่อยมีสินค้าขาออกมาไทย พอเราส่งออกไปสายเดินเรือก็เรียกเก็บค่าระวางแพง”

 

นายศุภชัย วรอภิญญาภรณ์

สอดคล้องกับนายศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ ประธานกรรมการ บจก.ธนสรรไรซ์ หนึ่งในผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ กล่าวว่า อิรักซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกหลักของบริษัท ยังมีการนำเข้าข้าวต่อเนื่อง แต่อาจจะติดปัญหาเล็ก ๆ น้อยๆ แต่คาดอิรักจะมีการนำเข้าข้าวจากไทยใกล้เคียงกับปีที่แล้ว (ปี 2566 ไทยส่งออกข้าวไปอิรัก 1.85 ล้านตัน) ขณะที่ในภาพรวมส่งออกข้าวไทยได้รับอานิสงส์จากอินโดนีเซีย ที่มีการนำเข้าต่อเนื่อง จากผลผลิตในประเทศลดลง เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้ราคาข้าวในอินโดนีเซียเดือนมิถุนายนสูงขึ้นเกือบ 12%

“ล่าสุด BULOG หน่วยงานนำเข้าข้าวของอินโดนีเซีย ได้ประกาศจัดประกวดราคาเพื่อซื้อข้าวจํานวน 320,000 ตัน (เป็นครั้งที่ 6 ของปีนี้) ซึ่งกำหนดจะซื้อข้าวขาว 5% จำนวน 320,000 ตัน จากประเทศไทย เวียดนาม เมียนมา กัมพูชา และปากีสถาน (ครั้งที่ 1-ครั้งที่ 5 คาดมีการซื้อข้าวไปแล้วรวม 1.7 ล้านตัน) โดยจะต้องเป็นข้าวสารฤดูใหม่ (2024 crop year) ผ่านการสีแปรสภาพไม่เกิน 6 เดือน บรรจุถุงขนาด 50 กิโลกรัม และกําหนดช่วงเวลาส่งมอบทางเรือขนส่งสินค้าแบบ Break Bulk ภายในเดือนสิงหาคมถึงกันยายน 2567 โดยกําหนดให้ยื่นเอกสารเสนอราคาในวันที่ 31 กรกฎาคมหลังจากนั้นในวันที่ 1 สิงหาคม จะมีการเจรจาด้านราคากับผู้ยื่นข้อเสนอและคาดว่าจะมีการประกาศผลในวันที่ 2 สิงหาคมนี้”

อย่างไรก็ตามราคาข้าวขาว 5% ของไทยเวลานี้เฉลี่ยที่ 560 ดอลาร์สหรัฐต่อตัน แต่คู่แข่ง (เวียดนาม) อยู่ประมาณ 540 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ข้าวไทยยังแพงกว่า 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ดังนั้นในการประมูลครั้งนี้ โอกาสไทยที่จะได้ค่อนข้างน้อยมาก เพราะจะเน้นเรื่องราคาเป็นหลัก รายที่เสนอราคาตํ่าสุดมีโอกาสได้ไปส่วนข้อตกลงซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)ไทย-อินโดนีเซีย ได้ส่งมอบไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งอยากให้รัฐบาลเข้าไปเจรจาใหม่ เพราะเวลานี้ข้าวฤดูการผลิตใหม่ของไทยกำลังเริ่มออกสู่ตลาด

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การประมูลขายข้าวให้อินโดนีเซียในครั้งนี้ไทยไม่น่าจะชนะ จากราคาข้าวไทยสูงกว่าเวียดนาม 20-30 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน แต่หากเวียดนามชนะประมูลจะมีผลให้ราคาข้าวเวียดนามปรับตัวสูงขึ้น ทำให้การประมูลในงวดหน้าราคาข้าวไทยจะแข่งกับเวียดนามได้สูสี และมีโอกาสชนะประมูลมากขึ้น

“สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับข้าวฤดูกาลใหม่ปี 2568 คือ จากช่วงจากนี้ไป คาดจะเข้าสู่ช่วงลานีญา ฝนจะตกมากขึ้น ชาวนาไทย และชาวนาในหลายประเทศ อาทิ อินเดีย ปากีสถาน จะมีผลผลิตข้าวมากขึ้น ทำให้ผลผลิตล้นตลาด และราคาปรับตัวลดลง”