เนื่องจากที่องค์การคลังสินค้า (อคส.)ได้ทำสัญญาเช่าคลังสินค้ากับบริษัท สิงห์โตทองไรซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด คลังหลังที่ A1 ตั้งอยู่ที่ตำบลธำมรงค์ อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อเก็บรักษาข้าวสารตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี2554/55 และต่อมา อคส.ได้นำข้าวสารมาเก็บรักษาไว้ในคลังจำนวนประมาณ 380,000 กระสอบ หรือ 38,000 ตัน ในเดือนพฤษภาคม ปี 2558 ได้เกิดเพลิงไหม้กองข้าวในคลังหลัง A1 อคส. ได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบคลังดังกล่าว พร้อมทั้งมีบริษัทเซอร์เวย์เยอร์ (บริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าว) และบริษัทประกันภัยได้ร่วมกันตรวจสอบความเสียหายและคัดแยกกองข้าว
โดยได้นำข้าวที่คัดแยกมากองไว้ด้านหน้าคลังสินค้า ความยาวกว่า 300 เมตร จำนวนประมาณ 60,000 กระสอบ ต่อมาและในปี 2560 อคส.ได้เบิกค่าสินไหมทดแทนจาก บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) กว่า 10 ล้านบาท ตามกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยเลขที่ 1200-108-144385231 และปลายปี 2562 อคส. ได้นำข้าวสารคลังหลัง A1 ออกประมูลขาย และผู้ชนะการประมูลได้มาทำการขนย้ายข้าวออกจากคลังของบริษัทสิงห์โตทอง ฯ รวมถึงได้ขนย้ายข้าวสารในส่วนที่มีคุณภาพดีที่กองไว้ด้านหน้าคลังออกไปบางส่วน ยังคงเหลือข้าวสารอีกจำนวนหนึ่งประมาณ 30,000 กระสอบ หรือ 3,000 ตัน ที่กองทิ้งเน่าเสียหายอยู่ ณ ปัจจุบัน
นายมนต์ชัย รุ่งชาญชัย กรรมการ บริษัท สิงห์โตทองไรซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ประกอบการโรงสี-คลังสินค้าเกษตรรายใหญ่ จังหวัดกำแพงเพชร เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ข้าวในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่รัฐบาลแถลงว่าเป็นข้าวล็อตสุดท้ายจำนวน 15,000 ตัน นั้นไม่จริง แต่ยังมีข้าวสารอีก 3,000 ตัน กองทิ้งเน่าเสียหาย ซึ่ง อคส. ไม่เคยมาดูแลรักษาคุณภาพของข้าวสารในส่วนนี้เลย
ที่ผ่านมาบริษัทได้มีหนังสือถึง อคส.หลายฉบับเพื่อให้มาขนย้ายข้าวนี้ออกจากพื้นที่ของบริษัทฯ และขอให้ชำระค่าเช่าคลัง และค่าเสียหาย แต่ได้ถูกปฏิเสธจากผู้บริหารของ อคส.มาโดยตลอดว่าไม่ใช่ข้าวของ อคส. ซึ่งขัดแย้งกับข้อเท็จจริง เพราะหากไม่ใช่ข้าวของ อคส. แต่ทำไม อคส. จึงได้เบิกค่าสินไหมทดแทนเหตุจากไฟไหม้จากบริษัทประกันภัยไปแล้วกว่า 10 ล้านบาท
“ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 ได้ส่งหนังสือถึงนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อร้องขอความเป็นธรรม กรณีได้รับความเสียหายจากการกระทำของ อคส. และจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จังหวัดกำแพงเพชร กรณีพนักงานรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย จากกรณี อคส.ได้ย้ายข้าวออกมากองไว้ข้างนอกคลัง ปริมาณ 3,000 ตันมาตั้งแต่ปี 2558 และไม่ได้มีการดูแลรักษาคุณภาพข้าว ทำให้ข้าวดังกล่าวเน่าเสียทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ ซึ่งถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของ อคส.และเจ้าหน้าที่”
ขณะที่ในข้อเท็จจริงยังมีเจ้าหน้าที่ของ อคส. เข้าตรวจเช็กสต๊อกสินค้าคงเหลือถึงปีละ 2 ครั้งในเดือนเมษายน และกันยายนของทุกปี ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 ดังนั้นจึงขอความเห็นใจและขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยตรวจสอบกรณี อคส.ได้ปล่อยปละะละเลย ทิ้งข้าวเน่าสร้างความเสียหายให้กับภาครัฐกว่า 30 ล้านบาทในครั้งนี้ด้วย และปัจจุบันบริษัทฯได้ยื่นฟ้องคดีกับ อคส.ต่อศาลปกครองกลาง กรณีผิดสัญญาเช่าคลังหลัง A1 เพื่อเรียกค่าเสียหาย ทุนทรัพย์ จำนวน 112,360,428.13 บาท ตามคดีหมายเลขดำที่ 2565/2566 และฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง 8 คดี รวมทุนทรัพย์ทั้งสิ้นกว่า 1,030 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล
“บริษัทเป็นผู้ให้เช่าคลัง ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2551-2555 ทำสัญญาเช่า โดย อคส.รับผิดชอบ และจ้างบริษัทเซอร์เวย์เยอร์ เป็นผู้ดูแลข้าวสารในโกดัง ซึ่งบริษัทได้ค่าเก็บข้าวกระสอบละ 2 บาท เท่านั้น ต่างจากโครงการรับจำนำข้าวปี 2556-2557 จะเป็นสัญญาฝากเก็บโดยคลัง/โกดังคู่สัญญาจะรับผิดชอบในการดูแลและรมยาให้ได้คุณภาพข้าวสารตามที่กำหนด หากเกิดความเสียหายจะมาเก็บจากโรงสีหรือโกดังที่เป็นคู่สัญญา ซึ่งเป็นคนละสัญญา จะมาใช้เหมารวมกันไม่ได้ แล้วจะให้เรานำข้าวสารมาชดใช้คืน เรื่องอะไร? ทำไมต้องชดใช้ด้วย เพราะเราแค่ให้เช่าคลังเท่านั้น ” นายมนต์ชัย กล่าวยํ้า
ด้านแหล่งข่าวจาก อคส. กล่าวว่า ในขณะนั้น นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต อดีตผู้อำนวยการ อคส. ได้แจ้งผู้ประกอบการว่า ข้าวจำนวนดังกล่าวเป็นของบริษัท รวมถึงข้าวสารที่ขนมากองไว้หน้าคลังเป็นข้าวไม่ได้คุณภาพ ดังนั้นเมื่อข้าวยังเป็นของบริษัทอยู่ อคส.จึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยผิดนัดอันเกิดจากการขาดประโยชน์ในการใช้พื้นที่แก่บริษัทหรือต้องขนย้ายข้าวสารจากเหตุเกิดไฟไหม้ออกจากบริเวณคลังสินค้าหลัง A1 แต่อย่างใด และมีความประสงค์ให้บริษัทฯ ดำเนินการส่งมอบข้าวสารคืนแก่ อคส. จำนวน 76,932 ตัน (ข้าวจำนวนเต็มที่ อคส.เคยนำมาฝากเก็บ) ให้ครบถ้วนและมีมาตรฐานตรงตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดด้วย
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,993 วันที่ 19-22 พฤษภาคม พ.ศ. 2567