นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากการประชุมระดับสูงด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ไทย-จีนครั้งที่ 8 ณนครซีอาน มณฑลส่านซี สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม -1 สิงหาคม 2567 ซึ่งเป็นความร่วมมือภายใต้บันทึกข้อตกลงด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยกับสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือที่ทำให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าเกษตรไปยังประเทศจีน คิดเป็น 1 ใน 3 ของอาเซียน สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีนได้เป็นอย่างดี
ในปี 2568 จะครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูต 50 ปี ไทย-จีนซึ่งเป็นโอกาสดีที่ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้ นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำประเทศจีน กรมวิชาการเกษตร กรมประมงและกรมปศุสัตว์ เป็นผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ ให้ยกระดับความร่วมมือด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช เพื่อแก้ไขปัญหาทางด้านเทคนิคต่างๆในการอำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้าเกษตร และสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรส่งออกของไทยตลอด `Supply Chain
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เพื่อเพิ่มศักยภาพในการส่งออกสินค้าเกษตรด้านพืชจากไทย ไปจีนตามนโนบาย รมว.เกษตร กรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินการขออนุญาตเปิดตลาดสินค้าไม้ผล ในลักษณะผลไม้สด ผลไม้แช่เยือกแข็ง เปิดด่านฯ เพื่อเพิ่มเส้นทางในการขนส่งและโลจิสติกส์ พัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลใบรับรองแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจปล่อยรวมถึงการแก้ไขปัญหาการแจ้งเตือนจากฝ่ายจีน กรณีการตรวจพบแมลงศัตรูพืช สารตกค้าง และโลหะหนัก เป็นโอกาสดีที่กรมวิชาการเกษตรได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมเจรจาทางเทคนิคด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชระดับอธิบดีและระดับสูง ซึ่งผลจากประชุมที่เกี่ยวข้องประเด็นทางด้านพืชที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ ดังนี้
GACC จีนเร่งอนุญาตการเปิดตลาดผลไม้ ปัจจุบันไทยได้ขอเปิดตลาดมังคุดแช่เยือกแข็งไปแล้วและได้ร่วมพิจารณาร่างพิธีสารฯ แล้วเสร็จคาดว่าจะเข้าสู่กระบวนการเสนอลงนามภายในปีนี้ และได้ยื่นขอเปิดตลาดผลไม้แช่เยือกแข็งครอบคลุมผลไม้ไม่ระบุชนิดเพิ่มเติม นอกจากนี้ฝ่ายไทยได้เสนอขอเปิดตลาดมะยงชิดผลสด ไปยังจีนเพิ่มเติม ซึ่งผลไม้ดังกล่าวเป็นที่นิยมของผู้บริโภคของคนจีน และไทยมีศักยภาพทั้งในการผลิตที่มีมาตรฐาน GAP และโรงคัดบรรจุ GMP/HACCP
GACC อนุมัติให้ด่านท่าเรือกวนเหล่ย เขตฯ สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน เป็นด่านนำเข้าผลไม้สดจากต่างประเทศแห่งใหม่ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป ไทยสามารถส่งออกสินค้าเกษตรผ่านแม่น้ำโขงจากด่านเชียงแสน จ.เชียงราย ไปยังด่านท่าเรือกวนเหล่ยได้โดยตรง เป็นการเพิ่มช่องทางในการส่งออกผลไม้สดไปจีนในภาคเหนือของไทย นอกเหนือจากเส้นทางบก R3A ของด่านเชียงของที่มีความหนาแน่นของการขนส่งในปัจจุบัน ทั้งนี้ เป็นผลจากการผลักดันในระดับนโยบายระหว่างรัฐบาลไทย-จีน โดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงการเจรจาในเวทีต่าง ๆ ของกรมวิชาการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำประเทศจีน รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น
การแลกเปลี่ยนข้อมูลใบรับรองสุขอนามัยพืชแบบอิเล็กทรอนิกส์ e-Phytoกับจีน ซึ่งฝ่ายไทยได้เสนอให้มีการแลกเปลี่ยนผ่านทางช่องทาง NSW ของไทยไปยัง Linkage ของ GACC จีน ซึ่งจะยกระดับความน่าเชื่อถือของใบรับรอง อำนวยความสะดวกในการตรวจปล่อยสินค้าที่ด่านจีน ลดต้นทุน ระยะเวลา รวมถึงการตรวจสอบย้อนกลับได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคาดว่าภายในปีนี้จะสามารถทดสอบระบบได้
มาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาการแจ้งเตือนจากสาเหตุการตรวจพบแมลงศัตรูพืช สารตกค้าง และผิดเงื่อนไขการนำเข้า ณ หน้าด่านจีน ตลอด Supply Chain ซึ่ง GACC ชื่นชมในมาตรการบูรณาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนของไทยอาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร สหกรณ์จังหวัด พาณิชย์จังหวัด หน่วยงานระดับจังหวัด หน่วยงานในพื้นที่ สำนักงานที่ปรึกษาเกษตรต่างประเทศ ประจำประเทศจีน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข และภาคเอกชนผู้รับซื้อผลผลิต ขยายผลเพื่อให้เกิดการควบคุมกำจัดศัตรูพืช เช่น เพลี้ยแป้ง หนอนเจาะเมล็ดทุเรียนอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้เน้นย้ำว่า ตามนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น กรมวิชาการเกษตร ได้นำมาสู่การปฏิบัติเป็นรูปธรรม โดยร่วมบูรณาการกับหน่วยงานภายในและภายนอกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทุกภาคส่วน ครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่ การผลิตในระดับสวน การเก็บเกี่ยวผลผลิต การคัดบรรจุ รวมถึงการออกใบรับรองสุขอนามัย และสุขอนามัยพืช รวมถึงการเจรจากับประเทศคู่ค้า โดยกำหนดเป็นมาตรการเพื่อผลิตผลไม้คุณภาพมิให้มีผลกระทบกับตลาดของผู้บริโภคภายใน และส่งออกต่างประเทศ ซึ่งภาคเอกชนผู้รับซื้อผลผลิต ต่างยืนยันว่า ยังมีความต้องการบริโภคผลไม้คุณภาพเป็นจำนวนมาก ทั้งการบริโภคผลสด และอุตสาหกรรมแปรรูป ทั้งผลไม้แช่แข็ง นอกจากนี้จีนพอใจและชื่นชมมาตรการกรอง 4 ชั้นของกรมวิชาการเกษตร ในการป้องกันปัญหาแมลงศัตรูพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนจากประเทศไทย สอดรับกับการสอบถามทูตเกษตรในจีน ยืนยันความต้องการผลไม้ไทยคุณภาพในจีนยังสูงอยู่