กรมวิชาการเกษตรลงนามแล้ว หนุนพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ ด้วยเทคโนฯปรับแต่งจีโนม

09 ส.ค. 2567 | 10:24 น.
อัพเดตล่าสุด :09 ส.ค. 2567 | 10:40 น.

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ลงนาม ประกาศ“หลักการ วิธีการ และเงื่อนไขการรับรองพืชที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม พ.ศ. 2567 หนุนปรับปรุงพันธุ์ พัฒนาพันธุ์พืชใหม่ ที่มีความปลอดภัยสูง ด้วยเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม พร้อมเดินหน้าสร้างการรับรู้ทุกภาคส่วน

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า วันที่ 9 สิงหาคม 2567 ได้ลงนามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง "หลักการ วิธีการ และเงื่อนไขการรับรองพืชที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม พ.ศ. 2567" ซึ่งประกาศดังกล่าวจะเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การขอรับหนังสือรับรองพืชที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม เพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้มีการปรับปรุงพันธุ์ และพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ รองรับวิกฤตความมั่นคงทางอาหาร และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

กรมวิชาการเกษตรลงนามแล้ว หนุนพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ ด้วยเทคโนฯปรับแต่งจีโนม

ประกาศดังกล่าวจะใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป ทั้งนี้สาระสำคัญของประกาศดังกล่าวประกอบด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอรับการรับรองพืชที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม

โดยพืชที่ขอการรับรอง ต้องมีคุณสมบัติ เป็นพืชที่พัฒนาด้วยเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม ซึ่งในผลิตภัณฑ์สุดท้าย มีสารพันธุกรรมจากสิ่งมีชีวิตผู้ให้ ที่สามารถผสมพันธุ์กันได้ตามธรรมชาติกับสิ่งมีชีวิตผู้รับอย่างหนึ่งอย่างใด  ไม่มีการถ่ายฝากยีนจากสิ่งมีชีวิตอื่น ไม่จัดว่าเป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรม หรือ GMOs โดยมีความปลอดภัยสูง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ประกาศกรมวิชาการเกษตรฯ ดังกล่าว สอดรับกับแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายภาคการเกษตร IGNITE AGRICULTURE HUB จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง ยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางภาคเกษตร และอาหารของโลก ที่เป็นนโยบายที่สำคัญของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการพัฒนาพืชพันธุ์ใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม (Genome Editing, GEd) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในการแก้ไขรหัสพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตที่มีความจำเพาะ และแม่นยำสูง หรือแก้ไขยีนที่ไม่ดีออกเพื่อให้ได้สิ่งมีชีวิตลักษณะดีตามต้องการ

กรมวิชาการเกษตรลงนามแล้ว หนุนพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ ด้วยเทคโนฯปรับแต่งจีโนม

ทั้งนี้องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ให้การยอมรับ ที่สำคัญเทคโนโลยี GEd ไม่มีการถ่ายฝากยีนจากสิ่งมีชีวิตอื่น ไม่จัดว่าเป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรม หรือ GMOs โดยมีความปลอดภัยสูง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หลายประเทศทั่วโลกได้ลงทุนงานวิจัย และอนุมัติการใช้ประโยชน์จาก เทคโนโลยี GEd อาทิ แคนาดา อเมริกา บราซิล อาร์เจนตินา ชิลี ญี่ปุ่น จีน อังกฤษ ฟิลิปปินส์ เคนยา รัสเซีย ออสเตรเลีย ต่างให้การยอมรับเทคโนโลยี GEd ทั้งในเชิงการค้า และการบริโภคเช่นเดียวกับพืชทั่วไป

สำหรับประเทศไทยถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะนำเทคโนโลยีดังกล่าว มาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์พืชแบบก้าวกระโดด เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็น Seed hub ซึ่งเทคโนโลยี GEd จะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยยกระดับรายได้ 3 เท่าภายใน 4 ปีของเกษตรกรอย่างแท้จริง

นายรพีภัทร์ กล่าวอีกว่า หลังจากมีการประกาศกรมวิชาการเกษตรฯ ทางกรมวิชาการเกษตร จะดำเนินการสร้างการรับรู้ให้กับทุกภาคส่วน ได้รับทราบ อาทิ เกษตรกร ประชาชน และนักวิจัย โดยใช้สื่อโซเซียลมีเดีย เป็นช่องทางหลัก เน้นความบันเทิงสอดแทรกสาระ สร้างไวรัลในโลกออนไลน์ ผู้ดูแลนโยบาย นำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง นำเสนอภาพรวมของเทคโนโลยีทั้งในและต่างประเทศ นำเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนด

รวมถึงมาตรการควบคุมกำกับดูแล นักวิชาการ นักวิจัย อาจารย์มหาวิทยาลัย สัมมนาวิชาการ รับ ฟังความคิดเห็นแลกเปลี่ยนข้อมูล สร้างมติทางวิชาการเพื่อกำหนดคำนิยาม สร้างเครือข่ายความร่วมมือทาง วิชาการ และการสื่อสารวิทยาศาสตร์ ซึ่งกรมวิชาการเกษตร ก็ได้ดำเนินการสร้างการรับรู้มาในช่วงเวลาหนึ่งแล้ว

กรมวิชาการเกษตรลงนามแล้ว หนุนพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ ด้วยเทคโนฯปรับแต่งจีโนม

สำหรับในด้านงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินการสร้างเครือข่ายด้านการวิจัยการปรับแต่งจีโนม ร่วมกันระดับประเทศ สร้างโมเดลพืชเริ่มต้น : พืช GEd ทดแทนการนำเข้า อาทิข้าวโพด ถั่วเหลือง, พืช GEd พลังงาน อาทิอ้อย ปาล์มน้ำมัน พืช GEd ผัก สมุนไพร เพื่อรองรับปัญหาวิกฤตปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และโรคอุบัติใหม่ในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ นอกจากนั้นในระดับนานาชาติ กรมวิชาการเกษตรได้เตรียมความพร้อมในการสร้างความร่วมมือและเครือข่ายกับต่างประเทศ ในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี GEd เพื่อพัฒนาสายพันธุ์พืช GEd และการพัฒนาบุคคลกรวิจัยกับสถาบันในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น เป็นต้น      

“การขับเคลื่อนนโยบายจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม  (GEd) ที่เป็นเทคโนโลยีที่ไม่มีการถ่ายฝากยีนจากสิ่งมีชีวิตอื่น ไม่จัดว่าเป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรม หรือ GMOs โดยมีความปลอดภัยสูง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะดำเนินการร่วมกันทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการ พี่น้องเกษตรกร ที่จะร่วมกันขับเคลื่อน เพื่อนำพาภาคเกษตรไทยสู่ “ศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก” ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตความกินดี อยู่ดี ของเกษตรกรไทย ภายใต้ หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ที่เป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ”อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว