thansettakij
ครม.จัดเต็มงบกลาง 1 หมื่นล้าน บริหารจัดการน้ำ คุมโรคลัมปีสกิน

ครม.จัดเต็มงบกลาง 1 หมื่นล้าน บริหารจัดการน้ำ คุมโรคลัมปีสกิน

13 ส.ค. 2567 | 09:46 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ส.ค. 2567 | 09:50 น.

ครม.อนุมัติการจัดสรร “งบกลาง” วงเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท บริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ซ่อมแซมอาคารชลประทานที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม และการควบคุมโรคลัมปี สกินในโค กระบือ

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 13 สิงหาคม 2567 มีมติเห็นชอบการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงินรวม 10,483 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการสำคัญ 3 โครงการ ดังนี้

  1. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน และการส่งเสริมความมั่นคงด้านน้ำอุปโภคบริโภค วงเงิน 9,187 ล้านบาท 
  2. โครงการซ่อมแซมอาคารชลประทานที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากอุทกภัย ปี 2567 วงเงิน 867 ล้านบาท
  3. การควบคุมโรคลัมปี สกินในโค กระบือ วงเงิน 429 ล้านบาท

ซ่อมแซมอาคารชลประทานจากน้ำท่วม

นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.อนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) โดยกรมชลประทาน ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 867,812,000 บาท เพื่อดำเนินโครงการซ่อมแซมอาคารชลประทานที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากอุทกภัย ปี พ.ศ. 2567 รวม 227 รายการ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

สำหรับโครงการซ่อมแซมอาคารชลประทานที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากอุทกภัย ปี 2567 จำนวน 227 รายการ วงเงิน 867,812,000 บาท มีรายละเอียดดังนี้ 

  1. เพื่อซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคาร และระบบชลประทานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย และการใช้ให้กับคืนสุขภาพเดิม หรือมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น มีสภาพพร้อมใช้งานและมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำให้ดีขึ้น สามารถรองรับปริมาณน้ำหลักได้ 
  2. เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร เพื่อการอุปโภคบริโภค และเพื่อกิจกรรมอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

โดยแผนงานโครงการ ขอใช้งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 867,812,000 บาท ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี 

การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน 

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนากยรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม. มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายใต้กรอบวงเงิน 9,187.4462  ล้านบาท ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน และการส่งเสริมความมั่นคงด้านน้ำอุปโภคบริโภค จำนวน 3,032 รายการ 

ทั้งนี้ สทนช. บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินโครงการฯ สำหรับเตรียมความพร้อมรองรับสภาวะลานีญาในช่วงฤดูฝนปี 2567 โดยแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เสนอแผนงานโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และสอดดล้องกับโครงการฯ ซึ่ง สทนช. ได้ดำเนินการรวบรวม ตรวจสอบ และกลั่นกรองแผนงานโครงการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด พบว่ามีแผนงานโครงการที่ต้องดำเนินการ จำนวน 24,928 รายการ ในกรอบวงเงินงบประมาณ 64,983.1969 ล้านบาท 

ต่อมาสำนักงบประมาณ ได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณา โดยนายกรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบในหลักการให้หน่วยรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามโครงการและรายการตามที่ สทนช. เสนอ จำนวน 3,032 รายการ ภายในกรอบวงเงิน 9,187.4462 ล้านบาท โดยให้ใช้จ่ายจากงบกลาง ดังนี้

  • กระทรวงมหาดไทย 2,143 รายการ วงเงิน 5,616.0499 ล้านบาท
  • กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมชลประทาน) 669 รายการ วงเงิน 2,566.0029 ล้านบาท
  • กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 220 รายการ วงเงิน 1,005.3934 ล้านบาท

คุมโรคลัมปี สกินในโค กระบือ

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม. อนุมัติใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อควบคุมโรคลัมปี สกินในโค กระบือ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ วงเงิน 429,757,831 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการควบคุมโรคลัมปี สกิน ในโค กระบือ ดังนี้

1. ค่าจัดซื้อวัคซีนโรคลัมปี สกิน ชนิดเชื้อเป็น จำนวน 7,850,000 โด๊ส วงเงิน 421,020,000 บาท แบ่งเป็น

  • วัคซีนโรคลัมปี สกิน สำหรับโค-กระบือ ขนาดบรรจุไม่เกิน 10 โด๊ส/ขวด จำนวน 5,000,000 โด๊ส วงเงิน 315,000,000 บาท 
  • วัคซีนโรคลัมปี สกิน สำหรับโค - กระบือ ขนาดบรรจุไม่เกิน 25 โด๊ส/ขวด จำนวน 2,850,000 โด๊ส วงเงิน 106,020,000 บาท 

2. ค่าจัดซื้อวัสดุวิทยาศาสตร์เพื่อการแพทย์สำหรับฉีดวัคซีนและการรักษา จำนวน 8,737,831 บาท

ทั้งนี้ จำนวนวัคซีนดังกล่าวสามารถฉีดให้โค-กระบือได้ 7.85 ล้านตัว กระจาย 70 จังหวัด หรือประมาณ 64% ของจำนวนโคกระบือทั่วประเทศ