นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ในพื้นที่ภาคเหนือ ในขณะนี้ ซึ่งกระทบต่อภาพลักษณ์ของคุณภาพทุเรียน ซึ่งร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้กรมวิชาการเกษตร รณรงค์ยกระดับมาตรการในการกำจัด และป้องกัน หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ตลอด Supply Chain ตั้งแต่การผลิตจากสวนของเกษตรกร การเก็บเกี่ยว คัดบรรจุ และการตรวจสอบเพื่อรับรองสุขอนามัยพืช มิให้มีผลกระทบกับตลาดภายใน และส่งออกต่างประเทศ
ล่าสุดมอบหมายให้ ดร.พงศ์ไท ไทโยธิน รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมทั้งหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ของกรมวิชาการเกษตร ร่วมประชุมหารือแนวทางการดำเนินงานแก้ไขปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ร่วมกับ นางพรทิพย์ ศรีสมโภชน์ เกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ และเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ ณ ห้องประชุม สำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ อำเภอเมือง จังหวัด อุตรดิตถ์ พบการระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ในพื้นที่อำเภอลับแล และอำเภอเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความลาดชันสูงผลการประชุมได้มีมาตรการกำหนดการคุมเข้มการกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ที่ปลูกในสภาพแปลงที่มีความลาดชันสูง ด้วยแนวทาง 3 ป และมาตรการกรอง 4 ชั้นดังนี้
ป (1) ป้องกันการป้องกันโดยใช้กับดักไฟ (แบล๊คไลท์) เพื่อล่อผีเสื้อกลางคืนของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนในแปลงปลูก ซึ่งมี 2 กรณี ดังนี้
- การป้องกันโดยใช้กับดักแสงไฟ ที่มีภาชนะบรรจุน้ำหรือแหล่งน้ำใต้หลอดแบล็คไลด์ ในกรณีหากพบผีเสื้อของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนอยู่ในน้ำ ให้ดำเนินการแจ้งเตือนเกษตรกรในพื้นที่แหล่งปลูกนั้น ให้เร่งดำเนินการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดผีเสื้อและไข่ของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนในแปลงปลูกอย่างเร่งด่วน นอกจากนั้นให้เกษตรกรปิดดักแสงไฟเพื่อไม่ให้ผีเสื้อต่าง ๆ บินมาหาแสงไฟกับดัก
- การป้องกันโดยใช้กับดักแสงไฟและมีอุปกรณ์พัดลมดูดแมลงศัตรูพืชพร้อมกำจัดแมลงที่บินมาหากับดักแสงไฟ ในกรณีหากพบผีเสื้อของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ให้ดำเนินการแจ้งเตือนเกษตรกรในพื้นที่แหล่งปลูกนั้นเช่นกัน ให้เร่งดำเนินการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดผีเสื้อและไข่ของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนในแปลงปลูกอย่างเร่งด่วน
ป (2) ปราบปรามตั้งแต่ระยะดักแด้ และตัวเต็มวัย ของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนในช่วงปลายฤดูฝน ทั้งการใช้สารเคมี และชีวภัณฑ์ในการป้องกันกำจัด ในระยะดักแด้ การใช้สารเคมีควรใช้ในรูปแบบสูตรชนิดเม็ด เพื่อให้เกิดความสะดวกในการขนย้ายและสะดวกในการหว่าน โดยแนะนำให้เกษตรกรหว่านให้ทั่วแปลงปลูก จำนวน 2 ครั้ง ห่างกัน 15-30 วัน สารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืช ที่แนะนำใช้ในการหว่าน (เลือกใช้ชนิดใดชนิดหนึ่ง) ได้แก่
- Dinotefuran (ไดโนทีฟูแรน) : ไดโนทีฟูแรน 20%SG
- Fipronil(ฟิโพรนิล) : ฟิโพรนิล 0.3%GRฟิโพรนิล 80%WG
- Cartap hydrochoride (คาร์แทปไฮโดรคลอไรด์) : คาร์แทปไฮโดรคลอไรด์ 50%SP ใช้ตามอัตราคำแนะนำตามฉลากของสารเคมีที่นำมาใช้
สำหรับการปราบปรามผีเสื้อ (ตัวเต็มวัย) ของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนและระยะไข่ของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน โดยใช้สารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืชตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร โดยเฉพาะในกรณีเริ่มพบผีเสื้อของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนในบริเวณแปลงปลูกทุเรียนหรือพื้นที่ใกล้เคียง ให้เกษตรกรเร่งดำเนินการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดผีเสื้อและไข่ของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนในแปลงปลูกอย่างเร่งด่วน
การใช้ชีวภัณฑ์ในการราดลงดินใบพื้นที่บริเวณรัศมีทรงพุ่ม ชีวภัณฑ์ที่สำคัญได้แก่ เชื้อราเขียวเมตาไรเซียม (Metarhizium) โดยแนะนำให้เกษตรกรราดเชื้อราเขียวเมตาไรเซียมให้ทั่วแปลงปลูก และราดอย่างน้อย 2 ครั้ง ห่างกัน 15-30 วัน
ป (3) ประชาชนบูรณาการร่วมกันของประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ ในการให้ข้อมูลซึ่งกันและกันกรณีพบผีเสื้อหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนในช่วงต้นฤดูกาลของการเริ่มติดผลทุเรียนในแหล่งปลูก
- การกำจัดดักแด้หนอนในดิน ผีเสื้อ (ตัวเต็มวัย) และไข่หนอน เกษตรกรในพื้นที่ต้องร่วมบูรณาการกำจัดในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน และดำเนินการกำจัดให้เป็นพื้นที่วงกว้างให้มากที่สุด เพื่อทำให้ปัญหาของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนที่พบการระบาดในพื้นที่ค่อย ๆ ลดลงหมดไป
- การร่วมกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนของประชาชนผู้บริโภค ผู้ขายผลผลิตทุเรียนสดในพื้นที่ ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุทุเรียน และโรงงานแปรรูปผลผลิตทุเรียน ในกรณีพบหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนติดไปกับผลผลิตให้ดำเนินการกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนที่พบทันที และไม่ทิ้งหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนลงดินในบริเวณนั้น
สำหรับมาตรการกรอง 4 ชั้นนั้น เมื่อเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียน ต้องดำเนินการตามมาตรการกรอง 4 ชั้น ของกรมวิชาการเกษตร เพื่อลดความเสี่ยงหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนดังนี้
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า การแพร่ระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนในพื้นที่ภาคเหนือ เป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจทางการเกษตร จำเป็นต้องร่วมมือทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาทั้ง แนวทาง 3 ป และมาตรการกรอง 4 ชั้น เพื่อมิให้มีผลกระทบกับตลาดภายใน และส่งออกต่างประเทศซึ่งภาคเอกชนผู้รับซื้อผลผลิต ต่างยืนยันว่า ยังมีความต้องการบริโภคทุเรียนภายในประเทศ และต่างประเทศ อยู่เป็นจำนวนมาก
ทั้งการบริโภคผลสด และอุตสาหกรรมแปรรูป ทั้งทุเรียนแช่แข็ง ทุเรียนทอดกรอบ ทุเรียนกวน ไอศกรีมทุเรียน ซี่งราคาจำหน่ายทุเรียนในประเทศ ยังได้ราคาดี ไม่น้อยกว่า การส่งออก ซึ่งจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า และยังต้องเสี่ยงกับการเรียกเก็บเงินปลายทางอีกสอดรับกับการสอบถามทูตเกษตรประจำกรุง ปักกิ่ง กว่างโจว เซี่ยงไฮ้ ยืนยันความต้องการ และราคาทุเรียนไทยคุณภาพในจีนยังสูงอยู่ ซึ่ง รมว.เกษตร ได้สั่งการให้ กรมวิชาการเกษตร ยกระดับความเข้มข้นทั้งมาตรการกรอง 4 ชั้น มาตรการระยะสั้น มาตรการระยะยาว เพื่อป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ตลอด Supply Chain มิให้มีผลกระทบกับตลาดภายใน และส่งออกต่างประเทศ