TFM รุกหนัก อาหารกุ้งในอินโดฯ เพิ่มตลาดส่งออก ดันโตก้าวกระโดด

21 ส.ค. 2567 | 07:35 น.
อัพเดตล่าสุด :21 ส.ค. 2567 | 07:57 น.

บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ “TFM” ในเครือไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ผู้นำธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายอาหารสัตว์นํ้า และอาหารสัตว์เศรษฐกิจของไทย เป็นหนึ่งในบริษัทที่น่าจับตามอง

ทั้งนี้จากธุรกิจในแต่ละปีของบริษัทฯ มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการใช้อาหาร สัตว์นํ้า และสัตว์บกของเกษตรกรทั้งในและต่างประเทศขยายตัวต่อเนื่อง ต่อธุรกิจของ TFM ณ ปัจจุบันเป็นอย่างไร และเข็มทิศธุรกิจนับจากนี้จะไปทางไหน “นายพีระศักดิ์ บุญมีโชติประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) ได้ฉายภาพให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น

พีระศักดิ์ บุญมีโชติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน)

เรือธงขยายธุรกิจในอินโดฯ

นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทได้คาดการณ์ยอดขายจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 5-8% (ปี 2566 มียอดขาย 5,081.3 ล้านบาท) โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะมาจากการลงทุนตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายอาหารกุ้งในอินโดนีเซีย (ในนามบริษัท พีที ไทยยูเนี่ยน คาริสมา เลสทารี จำกัด หรือ TUKL)ที่คาดรายได้ปีนี้จะโตขึ้นหนึ่งเท่าตัวจากปีที่แล้ว ทั้งนี้อินโดนีเซียเป็นตลาดอาหารกุ้งขนาดใหญ่ มีปริมาณการเลี้ยงกว่า 6 แสนตันต่อปี(กุ้งต้องกินอาหารเกือบ 1 ล้านตันต่อปี) ณ ปัจจุบัน TUKL ยังมีส่วนแบ่งตลาดอาหารกุ้งในอินโดนีเซียเพียง 1-2% ใน 3 ปีนับจากนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายจะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในอินโดนีเซียเป็น 10-15%

“โรงงานอาหารกุ้งของบริษัทที่อินโดนีเซียได้เข้าไปลงทุนได้ 2 ปีแล้ว มีกำลังการผลิต 2,500 ตันต่อเดือน หรือ 30,000 ตันต่อปี โดยที่ยังใช้กำลังผลิตอยู่ที่ระดับ 60% ซึ่งหากตลาดขยายตัวเพิ่ม เราพร้อมลงทุนใส่เครื่องจักรในการผลิตเข้าไปเพิ่มในเฟสที่ 2 ทั้งนี้ธุรกิจของบริษัทในอินโดนีเซียจะเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่จะทำให้เราโต (Growth) และขับเคลื่อนได้เร็วขึ้น”

TFM รุกหนัก อาหารกุ้งในอินโดฯ เพิ่มตลาดส่งออก ดันโตก้าวกระโดด

เพิ่มแชร์ในประเทศขยายส่งออก

สำหรับตลาดอาหารกุ้งในประเทศ ที่ไทยมีกำลังการผลิตกุ้งประมาณ 2.6-2.7 แสนตันต่อปี เวลานี้ TFM มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ของประเทศที่ 21% ใน 3 ปีนับจากนี้มีเป้าหมายจะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดเป็น 28-30% ขณะที่กลุ่มไทยยูเนี่ยนรับซื้อผลผลิตกุ้งในประเทศ 20-25% ของผลผลิตทั้งหมด นอกจากนี้บริษัทจะขยายตลาดอาหารปลาเพื่อขยายฐานลูกค้าทั้งผู้เลี้ยงปลากะพง (ปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งตลาดอาหารปลากะพง 37%) ปลานิล ปลาทับทิม และปลานํ้าจืดอื่น ๆ

ขณะที่อาหารสัตว์บก (ปี 2566 TFM มีรายได้จากอาหารกุ้ง 52.8% อาหารปลา 36.5% อาหารสัตว์บก 8.7% และอื่น ๆ ราว 1.9%) TFM มีบริษัทร่วมทุนในปากีสถาน (AMG-TFM) ที่ผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์บก ซึ่งเวลานี้มีปริมาณการขายสูงขึ้นต่อเนื่อง

นายพีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันจากที่ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ได้เข้าไปถือหุ้นใน Avanti ซึ่งเป็นผู้นำตลาดอาหารกุ้งในอินเดีย (สัดส่วน 24%) ทาง TFM มีแผนจะขยายตลาดอาหารปลาในอินเดียโดยให้ Avanti เป็นตัวแทนจำหน่าย เวลานี้ในอินเดียมีการขยายการเลี้ยงปลานิล ปลาทับทิม ปลาช่อน ปลาเทราต์ และปลาอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้ TFM มีรายได้จากตลาดอินเดียใน 2-3 ปีนับจากนี้

TFM รุกหนัก อาหารกุ้งในอินโดฯ เพิ่มตลาดส่งออก ดันโตก้าวกระโดด

ขณะเดียวกันจากที่เวลานี้ตลาดอาหารสัตว์นํ้าในประเทศของ TFM คิดเป็นสัดส่วนรายได้ของบริษัทประมาณ 84.1% ( ณ ไตรมาส 2/2567) ตลาดส่งออก 2.9% ยอดขายในอินโดนีเซีย 11.8% และยอดขายในปากีสถาน 1.2% ทาง TFM อยู่ระหว่างขยายตลาดส่งออกอาหารสัตว์นํ้า(กุ้งและปลา)ไปยังตลาดที่มีศักยภาพมากขึ้น อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม อินเดีย ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ ศรีลังกา เป็นต้น

“โดยสรุปคือ ในประเทศเราจะเพิ่มมาร์เก็ตแชร์ ส่งออกก็จะเพิ่มการขายมากขึ้น บวกกับเราจะขยายธุรกิจและการขายในอินโดนีเซีย ซึ่งจะเป็นเอนจิ้น หรือเครื่องยนต์ตัวใหม่ที่จะทำให้เราโต”

มุ่งความยั่งยืนสร้างมูลค่าเพิ่ม

ซีอีโอ TFM กล่าวอีกว่า บริษัทยังได้มุ่งผลักดันธุรกิจสู่ความยั่งยืน ผ่านกลยุทธ์ SeaChange ของกลุ่มไทยยูเนี่ยน โดย TFM ได้ผลักดันธุรกิจให้เข้ากับมาตรฐาน Aquaculture Stewardship Council (ASC) ซึ่งเป็นมาตรฐานสำหรับฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้าที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ของสหภาพยุโรป รวมถึงมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีทางการเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้า (Best Aquaculture Practices : BAP ) ของสหรัฐอเมริกา

เวลานี้ฟาร์มของเกษตรกรที่ทำงานร่วมกับบริษัทผ่านการรับรองมาตรฐาน ASC แล้วมากกว่า 100 บ่อ ซึ่งการได้รับการรับรองดังกล่าวส่งผลดี ทำให้ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป สามารถนำไปใช้อ้างอิง และนำเสนอสินค้าที่มีความแตกต่างจากคู่แข่ง สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ได้รับราคาสินค้าสูงกว่าคู่แข่งขันอย่างน้อย 5-10%