ย้อนรอย 3 โรคกุ้งระบาดหนัก หายนะตัวจริงอุตฯกุ้งไทย 10 ปีสูญกว่า 8 หมื่นล้าน

19 ส.ค. 2567 | 10:40 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ส.ค. 2567 | 10:57 น.

เมื่อปี 2554-2555 อุตสาหกรรมกุ้งไทยต้องเผชิญปัญหาใหญ่ เจอ 3 โรคระบาดรุมเร้าทำกุ้งตายยกบ่อ กระทบการส่งออกนับถึงปัจจุบันลดลงกว่า 8 หมื่นล้าน

นายกสมาคมกุ้งไทยในขณะนั้นระบุว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม ในพื้นที่ภาคตะวันออก เช่น ตราด จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และภาคใต้ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ชุมพร สงขลา และอื่น ๆ ประสบปัญหาโรคระบาด 3 ชนิด คือโรคตัวแดงดวงขาว ซึ่งจะเกิดขึ้นต้นฤดูหนาวและช่วงอากาศเย็น โรคขี้ขาวคือโรคที่กุ้งท้องเสียอย่างรุนแรง และโรคอีเอ็มเอส  เป็นโรคที่ทำให้กุ้งตายเฉียบพลัน

สถานการณ์โรคระบาดทั้ง 3 โรคดังกล่าว กระทบภาพรวมการผลิตกุ้งขาวในปี 2555 ให้ลดลงถึง 20% จากเดิมเมื่อปี 2554 ผลิตได้กว่า 6 หมื่นตัน มูลค่าตลาดทั้งสิ้น 1 แสนล้านบาท หรือทำให้ไทยสูญเสียโอกาสในการส่งออกถึง 2 หมื่นล้านบาททันที 

ย้อนรอย 3 โรคกุ้งระบาดหนัก หายนะตัวจริงอุตฯกุ้งไทย 10 ปีสูญกว่า 8 หมื่นล้าน

สอดคล้องกับเกษตรกรหลายรายที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติม อาทิ นายสมพร บุญเลิศฟ้า เจ้าของฟาร์มกุ้งขาวรายใหญ่ในจังหวัดนครปฐม ที่เปิดเผยว่า ฟาร์มของตนก็ประสบปัญหาโรคดังกล่าวเช่นกัน ทำให้กุ้งตายเป็นจำนวนมาก สถานการณ์โรคระบาดรุนแรงและรวดเร็วกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา และยังมีโรคชนิดใหม่ที่ฟาร์มตนไม่เคยเจอมาก่อน เช่น โรคอีเอ็มเอส ซึ่งโรคจะสะสมอยู่ใต้บ่อ จึงทำให้ควบคุมได้ยากมาก

ขณะที่ นายสุจินต์ คุ้มชนม์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งตราดยั่งยืน เมื่อปี 2555 ระบุว่า โรคอีเอ็มเอสที่เกิดขึ้นในจังหวัดตราด มีการระบาดมาจากฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี โดยกุ้งในฟาร์มใหญ่จะตายยกบ่อในระยะการเลี้ยงเพียง 10-30 วัน ซึ่งรุนแรงกว่าโรคตัวแดงที่เคยประสบมา ขณะที่ นายวีระ ศรีสาม ผู้เลี้ยงกุ้งในจังหวัดตราด กล่าวว่า ปัญหาโรคอีเอ็มเอส ที่ระบาดเพียงแค่ 3-4 เดือน หรือ ช่วงเดือนสิงหาคม - พฤศจิกายน 2555 ส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงกุ้งเสียหายแล้วประมาณ 10%  

ช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 2556 การระบาดของโรค "กุ้งตายด่วน - ems” ในพื้นที่เลี้ยงกุ้งภาคตะวันออกต่อเนื่องไปจนถึงภาคใต้ นับตั้งแต่ปลายปี 2555 ก็ยังไม่คลี่คลาย โดยโรคอีเอ็มเอส ได้คุกคามผลผลิตกุ้งในภาคตะวันออก ถึงร้อยละ 80 ของพื้นที่เลี้ยง และยังพบการระบาดเพิ่มเติมในพื้นที่บางส่วนของภาคใต้ โดยปริมาณผลผลิตกุ้งขาวจากเดือนมกราคม 2556 อยู่ที่ 23,860.95 ตัน ลดลงร้อยละ 29.90 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2555 และลดลงร้อยละ 22.06 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555

ทั้งนี้ "โรคตายด่วน" เกิดในกุ้งขาวแวนนาไมและกุ้งกุลาดำ กุ้งที่ตายด้วยโรคนี้จะอยู่ในช่วง 15-20 วัน นับจากวันปล่อยลงสู่บ่อเลี้ยง เป็นการตายก่อนวัย ในทางวิชาการแล้วสาเหตุของการเกิดโรคเป็นผลมาจากตับโดนทำลาย เนื่องจากตับมีการติดเชื้อแบคทีเรีย ลักษณะของโรค กุ้งที่เลี้ยงกินอาหารลดลง เปลือกนิ่ม และมีสีเข้มขึ้น หลังจากนั้นจะเริ่มพบการตายจนหมดบ่อเลี้ยง

ถัดมาในเดือนสิงหาคม 2556 มีรายงานว่ากรมประมงออกมาเตือนเกษตรกรเลี้ยงกุ้ง ระวังโรคแทรกซ้อน อาจร้ายกว่า EMS  ดร.จิราพร เกษรจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคสัตว์น้ำ กรมประมง ในฐานะประธานคณะทำงานติดตามและแก้ไขปัญหากลุ่มอาการตายด่วนในกุ้งทะเล (EMS War Room) ในขณะนั้น เปิดเผยว่า

เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง กำลังประสบปัญหาการระบาดของโรคตายด่วน EMS ซึ่งสร้างความเสียหายแก่อุตสาหกรรมกุ้งไทยทั้งระบบ ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่มุ่งประเด็นความใส่ใจในการเลี้ยงกุ้งทะเลโดยป้องกันเฉพาะปัญหาของกลุ่มอาการตายด่วน EMS/AHPNS เท่านั้น ขาดการเฝ้าระวังโรคกุ้งชนิดอื่น ๆ ที่อาจแทรกซ้อนแฝงตัวเข้ามา เนื่องจากช่วงสิงหาคมมีการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล สภาพอากาศแปรปรวน ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดอื่น ๆ เช่น โรคไวรัสตัวแดงดวงขาว โรคหัวเหลืองและเชื้อวิบริโอชนิดอื่น ๆ

ปิดท้ายที่ช่วงธันวาคม 2556 ที่สมาคมกุ้งไทย สรุปสถานการณ์ของอุตสาหกรรมกุ้งไทยว่า ไทยเผชิญวิกฤตจากโรคกุ้งตายด่วน (EMS) ส่งผลให้ผลผลิตกุ้งปี 2556 ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 250,000 ตัน หายไปถึง 54% จากปี 2555 ที่ผลิตกุ้งได้ 540,000 ตัน 

นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ ผ่านมากว่า 10 ปี ประเทศไทยสามารถแก้ปัญหาโรคระบาดกุ้งได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้วหรือยัง ปริมาณผลผลิตกุ้งไทยวันนี้กลับมาเท่ากับจุดเดิมเหมือนเมื่อก่อนเกิดโรคระบาดแล้วหรือยัง เป็นคำถามที่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทยยังรอการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนของภาครัฐ ควบคู่การบริหารจัดการแนวทางการตลาดในเวทีโลก ที่ทุกภาคส่วนในห่วงโซ่การผลิตต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังต่อเนื่อง

ข้อมูลปัจจุบันของกระทรวงพาณิชย์ พบว่ากุ้งสด แช่เย็นแช่แข็งของไทย เป็นสินค้าส่งออกที่สร้างรายได้เข้าประเทศในปี 2566 ที่ผ่านมา มีมูลค่าการส่งออกเหลืออยู่เพียง 21,945 ล้านบาทจากที่เคยทำได้ถึง 1 แสนล้านบาทในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา(หรือลดลงมากกว่า 8 หมื่นล้านบาท) ส่วนยอดการส่งออกในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ปี 2567 ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าส่งออกรวมทั้งสิ้นเพียง 9,592 ล้านบาท หรือหดตัวถึง 9.40%