"กรมพัฒน์ฯ" เผย ธุรกิจสายมูบูมโตแซงหน้าตลาดพระเครื่อง

26 ส.ค. 2567 | 04:46 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ส.ค. 2567 | 04:51 น.

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ลงพื้นที่จ.เชียงราย พบผู้ประกอบการร้านพระเครื่องและธุรกิจสายมู พัฒนาธุรกิจสายมูให้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว สร้างรายได้เข้าจังหวัดและประเทศ ปัจจุบันมีจดนิติบุคคล 154 ราย ปี 66 สร้างรายได้ 227 ล้านบาท

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญกับความเชื่อและความศรัทธาหรือมูเก็ตติ้ง ซึ่งมีธุรกิจเกี่ยวกับความเชื่อที้หลากหลายรูปแบบไม่จำกัดเฉพาะพระเครื่องอย่างเดียวเท่านั้น โดยเทรนด์ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาถ้าเทียบกันระหว่างตลาดพระเครื่องกับสินค้าสายมู  

ซึ่งสินค้าสายมูดูจะมาแรงกว่าเนื่องจากคนที่นิยมมีทุกวัย ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงเกือบ 100% ประเภทสินค้าที่สายมูนิยม เช่น พญานาค ผ้ายันต์ เครื่องราง เครื่องประดับ แหวน กำไล นาฬิกา สร้อยข้อมือ น้ำหอม เป็นต้น 

อีกทั้งสินค้าสายมูมีราคาไม่สูงมากนักอยู่ที่ประมาณ 300 – 1,000 บาท ทำให้ผู้ซื้อตัดสินใจได้ง่ายส่งผลให้มูลค่าตลาดมูเก็ตติ้งน่าจะถึงหลักหมื่นล้านบาท 

ส่วนตลาดพระเครื่องลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายที่พอจะมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องพระเครื่อง มีกำลังทรัพย์ในการสะสม เนื่องจากมีราคาค่อนข้างสูง ขึ้นอยู่กับว่าเป็นพระแท้ ไม่แท้ นิยม หรือไม่นิยม ราคาอยู่ที่ความนิยมในแต่ละช่วงเวลา

และความต้องการของตลาด เช่น พระที่หายากหรือพระที่เป็นตำนาน เช่น พระสมเด็จฯ ราคาจะอยู่ที่หลักแสน – หลักล้านแล้วแต่ความพอใจ

ปัจจุบันเจ้าของธุรกิจพระเครื่อง และธุรกิจมูเก็ตติ้ง ส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่นอายุระหว่าง 20-30 กว่าปี มีความรู้ด้านการตลาดสามารถใช้โซเชียลเป็นช่องทางในการซื้อมาขายผ่านการไลฟ์สดซึ่งตลาดจะกว้างกว่าสมัยก่อนมาก คนซื้อขายกันได้ทั่วโลก ลูกค้ามาจากประเทศจีนซื้อขายกันผ่าน WeChat แต่ยังใช้มาตรฐานของคนไทย 

จากการสำรวจการตลาดมูเก็ตติ้งใน จ.เชียงราย พบว่า ตลาดรอบๆ วัดดังในจังหวัดมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติยืนเลือกซื้อสินค้าสายมูกันอย่างคึกคักและต่อเนื่อง โดยเฉพาะชาวต่างชาติจะให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ ส่งผลให้ธุรกิจข้างเคียง เช่น ธุรกิจใส่กรอบรูป ใส่กรอบพระ ธุรกิจถ่ายภาพ ร้านขายสร้อย

สำหรับห้อยพระ ธุรกิจขายตลับ (กล่องใส่) พระเครื่อง และอีกหลากหลายธุรกิจพลอยได้รับอานิสงส์ไปด้วย ทำให้ยิ่งมั่นใจว่า เศรษฐกิจสายมูของประเทศไทยยังสามารถเดินไปข้างหน้าได้ สร้างรายได้เข้าชุมชนและเข้าประเทศชาติอย่างต่อเนื่อง 

และเป็นอีก 1 ธุรกิจที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตและเข้มแข็งมากขึ้น โดยข้อมูล ณ 31 กรกฎาคม 2567 มีนิติบุคคลที่ดำเนินกิจกรรมสายมู (โหราศาสตร์และความเชื่อศรัทธา) อยู่ 154 ราย เกือบทั้งหมดเป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) ที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยข้อมูลงบการเงิน ปี 2566 ธุรกิจในกลุ่มนี้สามารถทำรายได้ 227.89 ล้านบาท (+52.92% จากงบปี 2565) 

โดยผู้ประกอบส่วนใหญ่จะประกอบธุรกิจในนามบุคคลธรรมดา อย่างไรก็ตามขอเตือนนักลงทุนที่กำลังจะเข้าสู่ธุรกิจสายมู ต้องทำการศึกษาตลาดให้ดีก่อนการลงทุน เรียนรู้ และเข้าใจธรรมชาติของธุรกิจ และพยายามเรียนรู้รูปแบบธุรกิจที่แท้จริงจากผู้ที่มีประสบการณ์หรือผู้ที่เข้ามาในตลาดก่อนจะช่วยลดความเสี่ยงด้านการประกอบธุรกิจ และสร้างผลกำไรได้ในอนาคต ตามที่ได้คาดหวังไว้

สำหรับ มูเตลู คือ สิ่งที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ เรื่องลี้ลับ ของขลัง ไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ การดูไพ่ การเสริมดวงและโชคชะตา การบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ฯ ปัจจุบัน "มูเตลู" เป็นการหลอมรวมความเชื่อจากทางพุทธ พราหมณ์ การนับถือผีและสิ่งเร้นลับเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นความเชื่อที่เสริมกำลังใจผู้นับถือบูชาให้สมหวังในสิ่งที่มุ่งหวัง เช่น ด้านการงาน การเงิน และความรัก