ส่งออกเดือน ก.ค. โต 15.2% สูงสุดในรอบ 28 เดือน

27 ส.ค. 2567 | 06:10 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ส.ค. 2567 | 07:10 น.

สนค. แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศ เผยตัวเลขส่งออกไทย เดือนกรกฎาคม 2567 ขยาย 15.2% โตสูงสุดในรอบ 28 เดือน ขณะที่ตัวเลขส่งออก 7 เดือนแรกของปี มูลค่า 171,010.6 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 3.8%

วันที่ 27 สิงหาคม 2567 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาตร์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน กรกฎาคมว่าการส่งออกของไทยมีมูลค่า 25,720.6 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 15.2%

เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ส่วนการนำเข้ามูลค่า 27,093.8 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 13.1% ดุลการค้าขาดดุล 1,373.2 ล้านดอลลาร์

ส่งออกเดือน ก.ค. โต 15.2% สูงสุดในรอบ 28 เดือน

หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ยังคงขยายตัว 9.3% โดยการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั่วโลก ช่วยเพิ่มอำนาจซื้อให้กับผู้บริโภค เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมการฟื้นตัวนี้ ขณะที่การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นและการปรับตัวของค่าจ้างในประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะในยุโรป

ส่งผลให้การบริโภคฟื้นตัว เป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกของไทย โดยตลาดหลักที่กลับมาฟื้นตัวได้ดี อาทิ สหรัฐฯ จีน อาเซียน และสหภาพยุโรป สอดคล้องกับการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกของ IMF ที่ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกจะได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนจากการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี และเศรษฐกิจยุโรปที่ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดแล้ว

ทั้งนี้ภาพรวม 7 เดือนแรกของปี 2567 มีมูลค่า 171,0101.6 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 3.8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 การนำเข้า มีมูลค่า 177,626.5ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 4.4% ดุลการค้า 7 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 6,615.9 ล้านดอลลาร์

ขณะที่ มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนกรกฎาคม 2567 การส่งออกมีมูลค่า 938,285 ล้านบาท ขยายตัว 21.8% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 999,755 ล้านบาท ขยายตัว 19.4 ดุลกาคค้า ขาดดุล 61,470 ล้านบาท

ส่งออกเดือน ก.ค. โต 15.2% สูงสุดในรอบ 28 เดือน

สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 8.7% กลับมาขยายตัวหลังจากที่หดตัวในเดือนก่อนหน้า โดยกลับมาขยายตัวทั้งสินค้าเกษตร ขยายตัว 3.7% และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 14.6% โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่

  • ยางพารา ขยายตัว 55.4%
  • ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ขยายตัว 13.6%
  • อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 20.4%
  • อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัว 26.6%
  • ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ขยายตัว 308.4%

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่

  •  ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง หดตัว 25.9%
  • ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัว 6.5%
  • น้ำตาลทราย หดตัว 39.1%
  • เครื่องดื่ม หดตัว 10.4%

ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 4.0%

ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 15.6% กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว คือ

  • สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ขยายตัว 28%
  • ส่วนประกอบ ขยายตัว 82.6%
  • ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัว 13.8%
  • เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 34.1%
  • เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัว 27.8%

ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว

  • รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัว 12.8%
  • แผงวงจรไฟฟ้า หดตัว 8.7%
  • อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด หดตัว 16.6%
  • เครื่องยนต์สันดาปภายในลูกสูบและส่วนประกอบ หดตัว 15%

ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 3.8%

ส่งออกเดือน ก.ค. โต 15.2% สูงสุดในรอบ 28 เดือน

สำหรับแนวโน้มการส่งออกในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์คาดว่า การส่งออกของไทยในปี 2567 จะทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกที่กำลังปรับตัวดีขึ้น รวมถึงสัญญาณการฟื้นตัวของภาคการผลิตอุตสาหกรรมของโลก ขณะเดียวกันคาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลจะสนับสนุนสินค้าที่เกี่ยวเนื่องให้เติบโตตลอดทั้งปี

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่กดดันการส่งออกจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ และความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าหลังการเลือกตั้งในหลายประเทศที่สำคัญ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป