วันนี้ (19 สิงหาคม 2567) เวลา 9.30 น. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 และแนวโน้มปี 2567 ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัว 2.3% ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงไตรมาสแรกที่ขยายตัว 1.5%
ทั้งนี้เป็นผลมาจากเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น ทั้งการบริโภคเอกชน ขยายตัว 4.0% การอุปโภคภาครัฐบาล ขยายตัว 0.3% ปริมาณการส่งออกสินค้า ขยายตัว 1.9% ปริมาณการส่งออกบริการ ขยายตัว 19.8% ส่วนสาขาที่ขยายตัว คือ สาขาอุตสาหกรรม ขยายตัว 0.2% สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ขยายตัว 7.8% สาขาขนส่ง ขยายตัว 8.1% สาขาการค้า ขยายตัว 3% และสาขาการเงิน ขยายตัว 1.9%
ขณะที่ด้านที่ปรับลดลง คือ การลงทุนรวม ยังคงติดลบ 6.2% โดยการลงทุนเอกชน ติดลบ 6.8% ส่วนการลงทุนภาครัฐติดลบ 4.3% ภาคการเกษตร ติดลบ 1.1% และสาขาก่อสร้าง ติดลบ 5.5%
ส่วนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.07% สูงกว่า 1.01% ในไตรมาสก่อนและสูงกว่า 1.06% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 0.7% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 0.4%
ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (93.7 พันล้านบาท) เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 อยู่ที่ 224.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 มีมูลค่าทั้งสิ้น 11.54 ล้านล้านบาท คิดเป็น 63.5% ของ GDP
ส่วนแนวโน้มทั้งปี 2567 สศช. คาดว่าจะขยายตัว 2.3 – 2.8% (ค่ากลางการประมาณการ 2.5%) โดย สศช. ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยครั้งใหม่แคบลงกว่าเดิม ซึ่งก่อนหน้านี้เคยคาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 2-3% โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ดังนี้
ทั้งนี้คาดว่าการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 4.5% และ 0.3% ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สรอ. ขยายตัว 2.0% อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ในช่วง 0.4 – 0.9% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.3% ของ GDP