ชิ้นส่วนรถยนต์ 1.51 ล้านล้าน เร่งทรานส์ฟอร์ม ร่วมซัพพลายเชน EV จีนในไทย

05 ก.ย. 2567 | 04:52 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ย. 2567 | 05:31 น.

ประธานสภาอุตฯ มั่นใจผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ปรับตัวร่วมห่วงโซ่อุปทานค่ายรถยนต์ EV จากจีนได้ ยกอดีต 40-50 ปีก่อน ไทยทรานส์ฟอร์มผลิตชิ้นส่วนป้อนค่ายรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในของญี่ปุ่นได้อย่างแข็งแกร่ง ดันอุตสาหกรรมโตกว่า 1.51 ล้านล้าน

ฐานการผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) หรือรถยนต์ที่ใช้นํ้ามันเป็นเชื้อเพลิงของไทย กำลังถูกท้าทายและปรับเปลี่ยนไปสู่รถยนต์ใช้พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น พลังงานไฟฟ้า พลังงานไฮโดรเจน เป็นต้น ซึ่งเวลานี้มีค่ายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จากจีนได้เข้ามาตั้งฐานการผลิต/เตรียมตั้งฐานการผลิตแล้วหลายค่าย อาทิ BYD, GWM, MG, NETA, GAC Aion, Changan เป็นต้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องคือชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไทยที่มีมูลค่ามากกว่า 1.51 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมา ต้องเร่งปรับตัวตามเพื่อความอยู่รอด และเติบโตไปในอนาคต

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV เป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่ส่งผลให้การใช้ชิ้นส่วนในการผลิตรถยนต์หนึ่งคัน เมื่อเปลี่ยนจากรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในมาเป็นรถ EVการใช้ชิ้นส่วนได้ลดลงจากหลักหมื่นชิ้น ลดลงเหลือหลักพันชิ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยที่ส่วนใหญ่ยังผลิตป้อนให้กับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน หากไม่ปรับตัว

ทั้งนี้เปรียบเทียบแล้ว หากนึกภาพไปเมื่อ 40-50 ปีก่อน ประเทศไทยได้มีการปรับเปลี่ยน หรือทรานส์ฟอร์มจากประเทศเกษตรกรรม สู่ประเทศที่เป็นอุตสาหกรรมใหม่ ในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์มีค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรปย้าย/ขยายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทย โดยนำซัพพลายเชนคือบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนเข้ามาด้วย และมาใช้แรงงานไทยประกอบรถยนต์ คนไทยได้เฉพาะค่าแรง 100% ซึ่งกว่าที่ผู้ประกอบการไทยจะสามารถพัฒนาตัวเองเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่นป้อนให้กับโรงงานรถยนต์ค่ายญี่ปุ่น โดยใช้วิธีการร่วมทุนกับผู้ผลิตชิ้นส่วนจากญี่ปุ่น หรือเป็นบริษัทคนไทยล้วนแต่มีความสามารถทำได้ก็ต้องใช้เวลา

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

“การที่รถยนต์ EV จีนซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่เข้ามาตั้งฐานผลิตในไทย ใช้ชิ้นส่วนลดลงจากเครื่องยนต์สันดาปภายใน เปลี่ยนมาเป็นพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ทำให้การใช้ชิ้นส่วนลดลงไปมาก เพราะฉะนั้นในแง่ซัพพลายเชนชิ้นส่วนรถ EV แน่นอนเรายังไม่มี หรือมีก็น้อย ซึ่งไม่ใช่ไทยเราประเทศเดียวที่ไม่มีเทคโนโลยี ประเทศอื่นก็ไม่มีเทคโนโลยีเช่นกัน จะมีแต่ประเทศที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีคือ จีน อเมริกา และยุโรปในบางค่ายเท่านั้น ขณะที่ญี่ปุ่นเองก็ยังไม่มีเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้ามากนัก อีกทั้งยังไม่มีซัพพลายเชนที่แข็งแกร่งเท่าจีน”

 

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้ประกอบการชิ้นส่วนรถยนต์ไทยจะค่อย ๆ พัฒนาตัวเอง รวมถึงวิ่งเข้าหาค่ายรถยนต์ EV เพื่อนำเสนอตัวเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) เพื่อผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับค่ายรถยนต์ EV ของจีนที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย รวมถึงจากค่ายอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่นที่จะเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยหรือในประเทศอื่น ๆ ในอนาคต

ชิ้นส่วนรถยนต์ 1.51 ล้านล้าน เร่งทรานส์ฟอร์ม ร่วมซัพพลายเชน EV จีนในไทย

“การที่ผู้ประกอบการไทยเข้าไปอยู่ในซัพพลายเชนของโรงงานผลิตรถยนต์ EV ของจีนที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยได้มากขึ้นในอนาคต ค่ายรถยนต์ EV จากจีนที่ใช้ Local Content หรือชิ้นส่วนที่ผลิตในไทยในสัดส่วนที่มาก จะไม่ถูกเพ่งเล็ง หรือถูกตอบโต้ทางการค้า เหมือนอย่างที่สหรัฐได้ขึ้นภาษีรถ EV ที่ผลิตในจีนและส่งออกไปสหรัฐอีก 102% ในเวลานี้เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐ จากรถยนต์ EV จากจีนเข้าไปทุ่มตลาด และขายได้ลดลง” นายเกรียงไกร กล่าว