ส่งออกเดือน ส.ค. โต 7% มูลค่า 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์

25 ก.ย. 2567 | 06:00 น.
อัพเดตล่าสุด :25 ก.ย. 2567 | 07:08 น.

สนค. แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศ เผยตัวเลขส่งออกไทย เดือนสิงหาคม 2567 ขยายตัว 7% ขณะที่ตัวเลขส่งออก 8 เดือนแรกของปี มูลค่า 197192.8 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 4.2%

วันที่ 25 กันยายน 2567 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาตร์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน สิงหาคมว่าการส่งออกของไทยมีมูลค่า 26,182.3 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 7%

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ส่วนการนำเข้ามูลค่า 25,917.4 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 8.9% ดุลการค้าเกินดุล 264.9ล้านดอลลาร์

หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย การส่งออกขยายตัวที่ 6.6% การส่งออกขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา โดยขยายตัวในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่ขยายตัวสูง ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมก็เติบโตได้ดี มีปัจจัยสนับสนุนจากสภาพภูมิอากาศที่ผันผวนในหลายประเทศ ประกอบกับการฟื้นตัวของภาคบริการในตลาดสำคัญ 

ขณะเดียวกัน ยังส่งผลให้เกิดความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้น ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปเริ่มกลับมาฟื้นตัวจากภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น กระตุ้นความต้องการสินค้าจากไทย อีกทั้งยังมีปัจจัยบวกจากค่าระวางเรือที่ลดลง โดยเฉพาะเส้นทางการขนส่งไปยังสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้ผู้ส่งออกมีต้นทุนลดลง เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคา 

สำหรับภาพรวม 8 เดือนแรกของปี 2567 มีมูลค่า 197,192.8 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 4.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 การนำเข้า มีมูลค่า 203,543.8 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 5% ดุลการค้า 8 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 6,351 ล้านดอลลาร์

แนวโน้มการส่งออกในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์คาดว่า การส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2567 จะเติบโตต่อเนื่อง ปัจจัยบวกที่สำคัญมาจากสัญญาณการคลี่คลายของภาวะเงินเฟ้อระดับสูงในหลายประเทศ และแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ซึ่งคาดว่าจะกระตุ้นการบริโภคในตลาดโลก

ขณะที่ความต้องการสินค้าเกษตรไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับนโยบายรักษาความมั่นคงทางอาหารของประเทศคู่ค้า และสภาพภูมิอากาศที่ผันผวนทั่วโลกซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตในหลายประเทศ

ส่งออกเดือน ส.ค. โต 7% มูลค่า 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ แนวโน้มการชะลอตัวของอัตราค่าระวางเรือขนส่งสินค้าจะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ส่งออกไทย

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่อาจกระทบต่อการส่งออกไทยในระยะถัดไป อาทิ ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความไม่แน่นอนสูง ค่าเงินบาทที่ยังแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปัญหาอุทกภัยในประเทศที่อาจส่งผลต่อปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตร

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมปรับกลยุทธ์เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกไทย เพื่อให้มั่นใจว่าการส่งออกจะยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยต่อไป