เงินบาทแข็ง กระทบส่งออก- ท่องเที่ยว แนะกนง. ปรับอัตราดอกเบี้ย

23 ก.ย. 2567 | 07:29 น.
อัพเดตล่าสุด :23 ก.ย. 2567 | 08:07 น.

สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผย ค่าเงินบาทที่แข็งค่า ส่งผลกระทบส่งออกและท่องเที่ยวของไทย แนะคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พิจารณาความเป็นไปได้ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ คนที่ 1 หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น 8-10% อย่างรวดเร็วและรุนแรง ฉดยเคลื่อนไหวในกรอบ 33 บาทบวกลบ ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก และภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ โดยมีข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย หากค่าเงินบาทแข็งค่าเฉลี่ย 1% ต่อปีกระทบรายได้ผู้ประกอบการในภาคการส่งออกเกือบ 1 แสนล้านบาทต่อปี คิดเป็น 0.5% ต่อจีดีพี 

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ คนที่ 1 หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือกลุ่มเกษตรและอาหาร ที่แข่งขันได้ยากขึ้น เพราะผู้ผลิตต้องปรับราคาสินค้าให้สูงขึ้น มีปัญหาเรื่องการวางแผนการผลิตและการตลาด และวางแผนลงทุนและแผนธุรกิจได้ยากขึ้น ไม่กล้าลงทุนในโครงการใหม่หรือขยายตลาด

ขณะเดียวกัน ค่าเงินบาทผันผวนจะส่งผลกระทบใน 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 

1. ขีดความสามารถในการแข่งขัน ค่าเงินบาทที่ผันผวนจะทำให้ลดขีดความสามารถในการส่งออกเป็นมาก โดยเฉพาะต้นทุนวัตถุดิบหรือปัจจัยการผลิตที่ใช้ในอุตสาหกรรมเกษตรและประมงจะปรับสูงขึ้นทันที 10 % ส่งผลให้ผู้ผลิตและแปรรูปในไทยอาจต้องปรับราคาสินค้าให้สูงขึ้นตาม ซึ่งจะทำให้ลดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก

2. การวางแผนการผลิตและการตลาด หากค่าเงินมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ผลิตและแปรรูปอาจไม่สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาดหรือการผลิตได้ทันเวลา ทำให้ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

เงินบาทแข็ง กระทบส่งออก- ท่องเที่ยว แนะกนง. ปรับอัตราดอกเบี้ย

3. ความไม่แน่นอนและเพิ่มความเสี่ยงทางธุรกิจส่งออกเนื่องจากความผันผวนของค่าเงิน ความผันผวนของค่าเงินสร้างความไม่แน่นอนในตลาด การลงทุนและการวางแผนธุรกิจจะยากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการไม่กล้าลงทุนในโครงการใหม่หรือขยายตลาด ส่งผลให้ขาดโอกาสในการพัฒนาและเติบโตในอุตสาหกรรมของไทยอย่างเหมาะสม 

“ขอให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำกับดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่ผันผวนอย่างรุนแรงจนเกินไป และดูแลค่าเงินบาทให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคา และส่งเสริมผู้ประกอบการปรับตัว หาจุดแข้งและเพิ่มมูลค่าสินค้า รวมทั้งต้องช่วยแก้ปัญหาสินค้าราคาถูกที่ไม่มีคุณภาพที่ไหลทะลักเข้ามา จนสร้างความเสียหายต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการ”นายพจน์กล่าว

รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้มีการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกลงแบบเร็วและแรงที่ 0.50% จากอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 5.25-5.50% สู่ 4.75-5.00% จึงเห็นว่าน่าจะถึงเวลาที่ กนง. ควรพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้อัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทไม่แข็งค่าจนเกินไป ซึ่งจะช่วยเอื้อให้ผู้ประกอบการภาคการส่งออก และภาคท่องเที่ยวและบริการ สามารถที่แข่งขันได้ดียิ่งขึ้น

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการสภาหอการค้าไทย และนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีหลายสินค้าที่ส่งออกไปยังตลาดปลายทาง ปกติสินค้าไทยจะแข่งขันเรื่องมาตรฐานได้ดี ถึงแม้จะมีราคาสูงกว่าประเทศอื่น ๆ บ้าง แต่ปัจจุบัน คู่แข่งทางการค้ามีการลดราคาเพื่อแย่งชิงตลาด ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งไทยอย่างมาก ด้วยภาวะเศรษฐกิจขาลง รวมถึงค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้ราคาสินค้าไทยสูง ภายใน 2 เดือน ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 10-12% ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ค่อนบ้างลำบากกับประเทศไทยที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก 

เงินบาทแข็ง กระทบส่งออก- ท่องเที่ยว แนะกนง. ปรับอัตราดอกเบี้ย

นายวิบูลย์ สุภัครพงษ์กุล อุปนายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เปิดเผยว่า จากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น อุตสาหกรรมส่งออกไก่แช่แข็ง ได้รับผลกระทบหนักมาก เพรราะที่ผ่านมาจะการซื้อขายล่วงหน้า ทางลูกค้าสั่งออเดอร์โอนยอดจำนวนเงินทางบริษัทจึงจะส่งออกสินค้สไปให้ ปัจจุบันรายได้หายไปประมาณ 10-12% เฉลี่ยมูลค่า 1,000 ล้านต่อเดือน และคาดว่าหากสถาการณ์ลากยาวถึงสิ้นปี จะได้รับกระทบ 5,000-6,000 ล้านบาท  

เงินบาทแข็ง กระทบส่งออก- ท่องเที่ยว แนะกนง. ปรับอัตราดอกเบี้ย

นอกจากนี้ ยังมีความกังวลเรื่องการแข่งขันในตลาด โดยเฉพาะ ประเทศบราซิลที่ส่งออกไก่แช่แข็งเป็นคู่แข่งไทย ซึ่งค่าเงินของบราซิลค่อนข้างอ่อน หากผู้ประกอบการไทยไม่ลดราคาสินค้าก็ลำบาก และอยากให้ทางภาครัฐดูแลตั้งแต่วัตถุดิบกับการส่งออก