ส่งซิกรัฐบาลรับมือชาวนา อินเดียคัมแบ็กส่งออกข้าว ทุบราคาข้าวไทยดิ่งเหว

29 ก.ย. 2567 | 22:00 น.

ผู้ส่งออกส่งสัญญาณรัฐบาลรับมือชาวนา หลังอินเดียคัมแบ็กส่งออกข้าวขาวรอบกว่า 1 ปี ล่าสุดกดราคาข้าวสารที่โรงสีแห่เสนอขายให้ผู้ส่งออกลดจาก 22 บาท เหลือแค่ระดับ 16 บาท/กก. ตลาดโลกช็อค คาดหยุดซื้อขาย 1-2 สัปดาห์ รอดูทิศทางราคา จับตากระทบชิ่งข้าวเปลือกดิ่งแรง

จากที่อินเดียผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก มีนโยบายห้าม(แบน)การส่งออกข้าวขาว มาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 เพื่อลดความร้อนแรงของปัญหาราคาสินค้าในประเทศที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้เงินเฟ้อสูง เพื่อรักษาความมั่นคงด้านอาหาร และเป็นเหตุผลทางการเมือง

ล่าสุดวันที่ 28 กันยายน 2567 รัฐบาลอินเดียได้อนุมัติให้มีการส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติอีกครั้ง เนื่องจากสินค้าคงคลังในประเทศเพิ่มขึ้น และเกษตรกรกำลังเตรียมเก็บเกี่ยวผลผลิตใหม่ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า วงการข้าวไทย-ข้าวโลกจับตา ถึงผลกระทบที่จะตามมา เฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อประเทศคู่แข่งขันส่งออกข้าว ที่จะส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลก และราคาข้าวในประเทศลดต่ำลง จากมีซัพพลายในตลาดมากขึ้น

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การกลับมาส่งออกข้าวในกลุ่มข้าวขาวอีกครั้งของอินเดียในครั้งนี้ และมีผลทันที  คงต้องรอดูความชัดเจนในสัปดาห์นี้ถึงคำสั่งดังกล่าวของรัฐบาลอินเดียว่าจะมีรายละเอียดอย่างไร

อย่างไรก็ดี ในแง่ผู้ส่งออกเคยคาดการณ์ไว้แล้วว่ารัฐบาลอินเดียจะอนุมัติให้มีการส่งออกข้าวขาวอีกครั้งในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เนื่องจากอินเดียมีสภาพฝนฟ้าที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ที่ทำให้มีผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น มองว่าจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทย รวมถึงราคาข้าวสารในประเทศ ราคาข้าวสารส่งออก และราคาข้าวเปลือกในประเทศของไทย

ขณะเดียวกันจากช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว จากต้นปีเฉลี่ยที่ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เวลานี้เฉลี่ยที่ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่ามากสุดในรอบ 30 เดือน ทำให้รายได้ของผู้ส่งออกหายไปถึง 4 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  และส่งผลให้ราคาข้าวไทยแพงขึ้นตามอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อเทียบกับราคาข้าวของเวียดนาม อินเดีย ปากีสถาน เมียนมา และประเทศคู่แข่งขันส่งออกข้าวอื่น ๆ ที่ค่าเงินไม่แข็งค่า หรือแข็งค่าน้อยกว่าไทย ทำให้ไทยเสียเปรียบในการแข่งขัน 

ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

“การที่อินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวอีกครั้ง เราต้องเหนื่อยขึ้นแน่  จากเวลานี้เราก็เหนื่อยอยู่แล้วจากเงินบาทแข็งค่า ทำให้ราคาข้าวไทยสูงขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยน ส่งผลกระทบต่อราคาข้าวสารที่โรงสีขายให้ผู้ส่งออก และราคาข้าวเปลือกที่ชาวนาขายให้โรงสีปรับตัวลดลงตามกลไกตลาด

ขณะผลจากที่อินเดียประกาศแบนส่งออกข้าว ก่อนหน้านี้ราคาข้าวขาว 5 % ของไทยในตลาดโลกเคยขายได้ราคาสูง โดยผู้ส่งออกเคยซื้อข้าวขาวจากโรงสีสูงถึง 22 บาทต่อกิโลกรัม หรือตันละ 22,000 บาท แต่ล่าสุดจากทั้งสองปัจจัยทำให้ต้องลดราคารับซื้อข้าวสารลงเหลือ 16.50 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งโรงสีก็มาเสนอขายให้ผู้ส่งออกแบบถล่มทลาย แต่ผู้ส่งออกส่วนใหญ่ได้ชะลอซื้อไว้ก่อนเพื่อรอดูทิศทางของตลาด”

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ส่งออกข้าวที่ยังค้างส่งมอบในออร์เดอร์เก่า คาดยังคงต้องซื้อข้าวอยู่ ซึ่งก็มีความเสี่ยงขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน  เพราะส่วนใหญ่ผู้ส่งออกข้าวไม่ค่อยทำประกันความเสี่ยง หรือบุ๊กค่าเงินไว้กับธนาคาร เพราะเงินบาทผันผวนขึ้น-ลงเร็ว ในทิศทางที่แข็งค่ามากขึ้น

ส่งซิกรัฐบาลรับมือชาวนา อินเดียคัมแบ็กส่งออกข้าว ทุบราคาข้าวไทยดิ่งเหว

สำหรับการกลับมาส่งออกข้าวขาวของอินเดียอีกครั้ง คาดการซื้อขายข้าวในตลาดโลกในช่วง 1-2 สัปดาห์นับจากนี้จะค่อนข้างเงียบ หรือจะหยุดการซื้อ เพราะผู้ซื้อจะ Wait & See เพื่อรอดูว่า จะส่งผลกระทบต่อราคาข้าวในตลาดโลกลดลงมากน้อยเพียงใด มองโอกาสราคาข้าวในตลาดจะขยับขึ้นแทบไม่มี

เวลานี้ราคาข้าวขาว 5% (เป็นชนิดข้าวที่ไทยส่งออกมากสุด) เฉลี่ยที่ 560 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (เอฟโอบี) ข้าวชนิดเดียวกันของเวียดนามเฉลี่ยที่ 520-530 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เมียนมา 510 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน  ซึ่งจากที่อินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวและกำหนดราคาขั้นต่ำที่ 490 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน คาดจะทำให้คำสั่งซื้อ(ออร์เดอร์)ไปที่อินเดียเพิ่มขึ้น

นอกจาก 2 ปัจจัยหลักที่จะส่งผลกระทบต่อราคาข้าวของไทยแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่จะส่งผลกระทบต่อราคาข้าวไทย และราคาข้าวในตลาดโลกปีหน้า คือซัพพลายข้าวของโลกจะเพิ่มขึ้น แม้ในปีนี้ปรากฎการณ์ลานีญา ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของโลก ผลผลิตข้าวอาจเสียหายบ้าง แต่ภาพรวมผลผลิตข้าวของโลกจะเพิ่มขึ้น จากเกือบทุกประเทศมีปริมาณน้ำที่มากเพียงพอในการทำนา

“ประเด็นคือซัพพลายข้าวของโลกจะเพิ่มขึ้น  แต่คนซื้อจะซื้อน้อยลง อย่าง 2 ปีที่ผ่านมา อินโดนีเซียซื้อข้าวหรือนำเข้าข้าวปีละ 4 ล้านตัน ปีหน้าอาจจะลดเหลือแค่ 1.5 ล้านตัน ตามตัวเลขการคาดการณ์ของกระทรวงเกษตรสหรัฐ (USFDA) ส่วนบังกลาเทศถึงแม้เจอน้ำท่วมบ้าง แต่ก็ไม่น่าจะมีปัญหา ขณะที่อินเดียซึ่งเป็นผู้ผลิตข้าวมากสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก(รองจากจีน) ก็บอกว่าผลผลิตปีหน้าดีมาก  เป็นเหตุผลสำคัญที่รัฐบาลอินเดียได้อนุมัติให้กลับมาส่งออกข้าวขาวอีกครั้ง”

นายชูเกียรติ กล่าวอีกว่า จากที่อินเดียแบนการส่งออกข้าวขาวในรอบกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ไทย เวียดนาม ปากีสถาน รวมถึงเมียนมา และประเทศผู้ส่งออกข้าวอื่น ๆ ทำวอลุ่มการส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้น เพราะก่อนที่อินเดียจะแบนส่งออกข้าว อินเดียเคยส่งออกข้าวขาวได้ปีหนึ่ง 5-6 ล้านตัน ในส่วนของไทยได้รับอานิสงส์การส่งออกข้าวขาวทดแทนอินเดียได้ประมาณ 2 ล้านตัน ส่งผลให้ปี 2566 ไทยส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้นเป็น 8.7 ล้านตัน จากก่อนหน้านี้ส่งออกได้ที่ระดับ 6.7-6.8 ล้านตันต่อปี

สำหรับในปี 2567 คาดไทยจะยังสามารถส่งออกข้าวได้ที่ระดับ 8.5-8.7 ล้านตัน เนื่องจากช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ส่งออกไปแล้วประมาณ 7 ล้านตัน คาดใน 3 เดือนที่เหลือจะส่งออกได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5 แสนตันต่อเดือน เนื่องจากช่วงปลายปีจะมีตลาดข้าวหอมมะลิฤดูการผลิตใหม่ที่จะออกมาและเป็นที่ต้องการของตลาด

อย่างไรก็ตามจาก 3 ปัจจัย ทั้งเงินบาทแข็งค่า อินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาว และซัพพลายข้าวในตลาดโลกมีมากขึ้นในปีหน้า จะส่งผลให้ประเทศผู้นำเข้าข้าวลดการนำเข้าข้าว จะมีผลให้ในปี 2568 ไทยอาจจะส่งออกข้าวได้ลดลงเหลือระดับ 6 ล้านตัน ซึ่งหากส่งออกได้ลดลงก็จะไปฉุดราคาข้าวสารและราคาข้าวเปลือกในประเทศปรับตัวลดลง

จากราคาเปลือกที่ในช่วงที่อินเดียแบนการส่งออกข้าวขาว และเงินบาทอ่อนค่าที่ระดับ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปีที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงต้นปีนี้ ชาวนาเคยขายข้าวเปลือกได้ระดับสูงกว่า 10,000 บาทต่อตัน แต่เวลานี้จากเงินบาทแข็งค่ามาก ความสามารถในการส่งออกข้าวไทยลดลง ส่งผลกระทบต่อราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้ในเวลานี้ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 8,500 ถึงกว่า 9,000 บาทต่อตัน

“การกำหนดราคาขั้นต่ำส่งออกข้าวขาวของอินเดียที่ 490 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เป็นแค่ตัวอ้างอิงว่าห้ามขายต่ำกว่าราคานี้ แต่ถ้าเขาขายที่ราคานี้ เราก็ตายหมือนกัน เพราะหากมีผลทำให้ราคาข้าวขาวของไทยต้องลดลงมาเหลือ 500 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันเพื่อแข่งขัน

หากทอนมาเป็นราคาข้าวสารที่ผู้ส่งออกซื้อจากโรงสีอาจจะเหลือ 13 บาทกว่าหรือ 14 บาทต่อกิโลกรัม ราคาข้าวเปลือกอาจจะตกเหลือประมาณ 6,000 บาทต่อตัน อาจนำมาซึ่งความเคลื่อนไหวของเกษตรกรที่รัฐบาลต้องเตรียมรับมือ ดังนั้นมองว่าปีหน้าจะเป็นปีที่รัฐบาลอาจจะต้องเหนื่อยในเรื่องของราคาพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะข้าว”