จี้รัฐบาลใหม่ยกระดับชาวนา หนุนพันธุ์ข้าวผลผลิตสูง ปูพรมแหล่งน้ำ บำนาญ 3 พัน

05 ก.ย. 2567 | 23:00 น.
อัพเดตล่าสุด :06 ก.ย. 2567 | 05:32 น.

นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย จี้รัฐบาลใหม่ ยกระดับชาวนาไทยสู่ยุคใหม่ เร่งพัฒนาพันธุ์ข้าว 1-1.2 พันตันต่อไร่เพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ เพิ่มขีดแข่งขันข้าวไทยในตลาดโลก พัฒนาแหล่งน้ำ มีน้ำทำนาตลอดปี เกษียน 60 ปี มีบำนาญ 3,000 บาทต่อเดือน ไม่เป็นภาระลูกหลาน ลดพึ่งประชานิยม

จากที่ ดร.ทักษิณ  ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้แสดงวิสัยทัศน์ “Vision for Thailand 2024” ทิศทางเศรษฐกิจจะขับเคลื่อนไปอย่างไร และทิศทางการเมืองไทยนับต่อจากนี้” จัดโดยสถานีโทรทัศน์ Nation TV เมื่อ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา สาระสำคัญส่วนหนึ่งได้พูดถึง ต้องมีการปฏิรูปภาคการเกษตรใหม่ ข้าวไทยสู้เวียดนามไม่ได้ ทั้งผลผลิตและคุณภาพ ต้องใช้การวิจัยและพัฒนาเข้ามาช่วยนั้น

นายปราโมทย์  เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การยกระดับภาคเกษตร เฉพาะอย่างยิ่งชาวนา (มีประมาณ 12 ล้านคนทั่วประเทศ) ที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติมาช้านานมี 3 เรื่องใหญ่ที่อยากขอให้รัฐบาลชุดใหม่เร่งผลักดัน

เรื่องแรก การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ที่ให้ผลผลิตสูง 1-1.2 พันตันต่อไร่ ทนแล้ง ทนฝน และมีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น ซึ่งจะทำให้การทำนาของเกษตรกรเมื่อหักต้นทุนแล้ว จะมีรายได้และกำไรมากขึ้น และมีเงินไว้ใช้ทำนารอบใหม่ ไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน และมีเงินเก็บสะสมมากขึ้น จากปัจจุบันชาวนาส่วนใหญ่มีหนี้สิน ทั้งค่าเช่านา ค่าปุ๋ย ค่ายา และหนี้นอกระบบ

ปัจจุบันพันธุ์ข้าวของไทยยังมีพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ น้อย และการพัฒนาเพื่อให้ได้สายพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ยังเป็นไปอย่างล่าช้า เฉลี่ยใช้เวลาประมาณ 12 ปีในการวิจัยและพัฒนาและมีการรับรองเพื่อให้ได้ข้าวพันธุ์ใหม่ ๆ ขณะที่เวียดนามคู่แข่งส่งออกข้าวที่สำคัญของไทยใช้เวลาพัฒนาและรับรองพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ใช้เวลาเพียง 1 ปี ทำให้เวลานี้เวียดนามมีพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ที่หลากหลาย และส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ข้าวหอม และข้าวขาวพื้นนุ่มที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลก และขายได้ในราคาถูกกว่าไทย เนื่องจากพันธุ์ข้าวของเวียดนามโดยเฉลี่ยให้ผลผลิตมากกว่า 1 ตัน หรือ 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ขึ้นไป

จี้รัฐบาลใหม่ยกระดับชาวนา หนุนพันธุ์ข้าวผลผลิตสูง ปูพรมแหล่งน้ำ บำนาญ 3 พัน

ขณะที่พันธุ์ข้าวหอมมะลิที่เป็นข้าวเกรดพรีเมียม และราคาสูงของไทย ที่ทำตลาดส่งออกมาช้านาน ได้ผลผลิตเฉลี่ยเพียง 400-500 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนข้าวเปลือกเจ้าทั่วไปให้ผลผลิตสูงสุดเพียง 800-900 กิโลกรัมต่อไร่ จากที่พันธุ์ข้าวเวียดนามให้ผลผลิตสูงทำให้ขายในตลาดโลกได้ในราคาถูกกว่าไทย และมีพันธุ์ข้าวให้ลูกค้าเลือกหลากหลายกว่า ทำให้ข้าวไทยเสียเปรียบในการแข่งขันเพิ่มขึ้นทุกขณะ

“จากที่ไทยไม่มีพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ และการปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์เป็นไปอย่างล่าช้า ส่งผลให้เวลานี้ชาวนาไทยได้นำพันธุ์ข้าวหอมของเวียดนาม ที่เรียกว่าข้าวหอมพวงมาปลูกในหลายพื้นที่ของประเทศ และเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ปลูกต่อ เวลานี้ผมบอกได้เลย ข้าวหอมที่ขายตามห้างฯ ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ข้าวหอมพวงจากเวียดนาม ข้าวหอมมะลิไทยแท้ ๆ มีน้อย ขณะเดียวกันข้าวหอมพวงที่เกษตรกรปลูก โรงสีก็รับซื้อไปสีและต่อขายให้ผู้ส่งออก เพราะข้าวหอมมะลิไทยมีน้อย”

จี้รัฐบาลใหม่ยกระดับชาวนา หนุนพันธุ์ข้าวผลผลิตสูง ปูพรมแหล่งน้ำ บำนาญ 3 พัน

เรื่องที่สอง ต้องเร่งพัฒนาแหล่งน้ำให้กับชาวนาที่อยู่นอกพื้นที่ชลประทานให้มีแหล่งน้ำเพื่อการทำนาได้ตลอดทั้งปี ทั้งการขุดลอกคูคลองต่าง ๆ การขุดเจาะบ่อบาดาล การผันน้ำทางท่อจากโขง ชี มูล เพื่อช่วยให้ชาวนาทางภาคอีสานมีน้ำทำนาได้เพิ่มขึ้น รวมถึงเกษตรกรในพื้นที่ภาคอื่น ๆ ได้มีน้ำในการทำนา ทำไร่ ทำสวน ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และทำกิจกรรมอื่น ๆ ได้เพิ่มขึ้น

ส่วนในเรื่องปุ๋ย  ที่รัฐบาลเศรษฐา  ทวีสิน โดยการผลักดันของร้อยเอกธรรมนัส  พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตาและสหกรณ์เป็นผู้ผลักดันโครงการ “ปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง” งบประมาณ 2.9  หมื่นล้านบาทที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) และคณะรัฐมนตรี(ครม.)แล้ว แต่ยังมีความล่าช้า ในเรื่องนี้ในความเห็นส่วนตัวอยากให้รัฐบาลใหม่ผลักดันต่อ เพื่อใช้ในการทำนารอบนาปรัง หรือรอบนาปีในปีหน้า จากเวลานี้โครงการมีความล่าช้า ชาวนาส่วนใหญ่ที่ทำข้าวนาปีได้มีการเพาะปลูกข้าว และซื้อปุ๋ยใส่ข้าวไปแล้ว

จี้รัฐบาลใหม่ยกระดับชาวนา หนุนพันธุ์ข้าวผลผลิตสูง ปูพรมแหล่งน้ำ บำนาญ 3 พัน

“เรื่องปุ๋ยคนละครึ่งเมื่อรัฐบาลให้ชาวนาก็ควรเอาไว้ก่อน เพราะรัฐบาลชุดที่ผ่านมาก็ประกาศชัดไม่มีโครงการช่วยเหลือในเรื่องค่าเก็บเกี่ยว ค่าปรับปรุงบำรุงดิน และอื่น ๆ ที่เคยให้ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือ 2 หมื่นบาทต่อรายแบบให้เงินสดแล้ว ดังนั้นเมื่อรัฐบาลเขาจะช่วยจ่ายค่าปุ๋ยคนละครึ่งก็ควรเอาไว้ เพราะสมมุติผมทำนา 20 ไร่ ต้องไปกู้เงินเขามา 2 หมื่นบาท เพื่อซื้อปุ๋ย 20 ลูก ก็ต้องจ่ายเองและจ่ายเต็มทั้งหมด แต่หากรัฐบาลช่วยครึ่งหนึ่งก็จะช่วยแบ่งเบาได้ครึ่งหนึ่ง”

ส่วนเรื่องที่ 3 ที่ตนเคยนำเสนออดีตนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา และร้อยเอกธรรมนัส  พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาก่อนหน้านี้ คือขอให้มีเงินบำเหน็จ / บำนาญสำหรับชาวนาที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ในอัตราเบื้องต้น 3,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนา ที่ปัจจุบันส่วนใหญ่มีอายุมาก ได้มีรายได้พอประทังชีวิตเฉลี่ย 100 บาทต่อวัน เพื่อไม่ให้เป็นภาระลูกหลาน