กรมส่งเสริมการค้าต่างประเทศ รายงานว่า ปัจจุบันราคาข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงหลังจากอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก อนุมัติให้การส่งออกข้าวกลับมาดำเนินการอีกครั้ง ส่งผลให้อุปทานทั่วโลกเพิ่มขึ้น และช่วยให้ผู้ซื้อในเอเชียและแอฟริกาที่ยากจนสามารถจัดหาข้าวได้ในราคาที่ถูกลงและ ซัพพลายเออร์จากไทย เวียดนาม ปากีสถาน ได้มีการเคลื่อนไหวและได้มีลดราคาส่งออก
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาราคาข้าวโลกพุ่งสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 15 ปี หลังจากที่อินเดียตัดสินใจห้ามส่งออกข้าวขาวและกำหนดภาษีส่งออกข้าวนึ่ง 20% เมื่อปีที่แล้ว การควบคุมการส่งออกของอินเดียเมื่อปีที่แล้วทำให้ซัพพลายเออร์ที่แข่งขันกัน เช่น เวียดนาม ไทย ปากีสถาน และเมียนมาร์ สามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดและกำหนดราคาที่สูงขึ้นในตลาดโลกได้
ขณะเดียวกัน มีการรายงานว่า ตอนนี้ ข้าวขาว 5% ของอินเดีย RI-INBKN5-P1 ถูกเสนอราคาที่ 500-510 ดอลลาร์ต่อเมตริกตัน ลดลงจาก 530-536 ดอลลาร์ ภายในสัปดาห์ที่แล้ว ข้าวขาวหัก 5% ของอินเดียถูกเสนอราคาที่ประมาณ 490 ดอลลาร์ ขณะที่ราคาข้าวไทยอยู่ที่ 540-550 ดอลลาร์ต่อตัน ลดลงจาก 550-560 ดอลลาร์ต่อ
นอกจากนี้ จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ส่งออกในเวียดนาม ปากีสถาน ไทย และเมียนมาร์ ต้องลดราคาลงอย่างน้อย 10 ดอลลาร์ต่อตัน เช่นกัน ผู้ซื้อและผู้ขายกำลังประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากอุปทานข้าวที่เพิ่มขึ้นของอินเดีย และราคาจึงน่าจะปรับตัวลดลงเร็วในช่วงสัปดาห์นี้
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจของอินเดียในการกลับมาส่งออกข้าวขาวอีกครั้ง ส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกลดลง นำมาซึ่งทั้งความท้าทายและอาจกระทบต่อการส่งออกข้าวไทยไปยังอินโดนีเซีย โดยปี 2566 อินโดนีเซียนำเข้าข้าวจากทั่วโลก 3 ล้านตัน แบ่งเป็นนำเข้าจากไทย 1.38 ล้านตัน เวียดนาม 1.15 ล้านตัน ปากีสถาน 0.3 ล้านตันและอื่นๆ ในปี 2567 อินโดนีเซียคาดว่าจะนำเข้าข้าวจากทั่วโลกทั้งสิ้น 4 ล้านตัน โดยระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2567 มีการนำเข้าแล้ว 2.6 ล้านตัน เป็นนำเข้าจากไทย 1.07 ล้านตัน เวียดนาม 0.70 ล้านตัน ปากีสถาน 0.45 ล้านตัน
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของราคาและห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกจะส่งผลกระทบต่อทั้งผู้บริโภคและผู้นำเข้า ไทยในฐานะผู้ส่งออกข้าวขาวรายใหญ่รายหนึ่งไปยังอินโดนีเซียใน 2 ปีที่ผ่านมา อาจพิจารณาส่งเสริมการส่งออกข้าวลักษณะพิเศษ เช่น ข้าวหอมมะลิไทย หรือข้าวอินทรีย์ และชูจุดเด่นด้านคุณภาพข้าวไทยที่มีชื่อเสียงและได้รับความเชื่อถือมาอย่างยาวนาน ตลอดจนความร่วมมือที่จะสร้างความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาคอาเซียน เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคา