จากที่ประเทศอินเดียผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก ได้ประกาศกลับมาส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติอีกครั้ง หลังมีนโยบายห้ามการส่งออกมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 เพื่อลดความร้อนแรงของปัญหาราคาสินค้าในประเทศที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้เงินเฟ้อสูง และจากเหตุผลทางการเมือง
ล่าสุดรัฐบาลอินเดียได้อนุมัติให้มีการส่งออกข้าวขาวอีกครั้ง มีผลตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2567 เป็นต้นไป หลังจากสินค้าคงคลังในประเทศเพิ่มขึ้น และเกษตรกรกำลังเตรียมเก็บเกี่ยวผลผลิตใหม่ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งคาดว่าจะมีผลผลิตที่ดี
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากที่อินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวอีกครั้ง ประกอบกับเงินบาทที่แข็งค่ามากสุดในรอบ 30 เดือน ล่าสุด (30 ก.ย. 67) แข็งค่าที่ระดับ 32.37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากต้นปีอ่อนค่าที่ระดับ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำให้รายได้ของผู้ส่งออกหายไป 3-4 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ส่งผลกระทบทำให้ราคารับซื้อข้าวสารเจ้า (ข้าวขาว 5%) ของผู้ส่งออกจากโรงสี จากต้นปีเคยรับซื้อราคาสูงถึง 22 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) หรือ 22,000 บาทต่อตัน ล่าสุดลดลงเหลือ 16.00-16.50 บาทต่อกิโลกรัม (16,000-16,500 บาทต่อตัน)
จากราคาข้าวที่ผู้ส่งออกลดราคารับซื้อจากโรงสีลงในครั้งนี้ ได้กระทบต่อเนื่องไปถึงราคาข้าวเปลือกเจ้าที่ชาวนาเคยขายได้ระดับสูงกว่า 10,000 บาทต่อตันตั้งแต่ช่วงที่อินเดียแบนการส่งออกข้าวขาว และเงินบาทช่วงต้นปีนี้อ่อนค่า ล่าสุด (30 ก.ย. 67) ข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ลดเหลือ 8,000-9,000 บาทต่อตัน (ความชื้น 25%)
ทั้งนี้ราคาข้าวสารส่งออกของไทย และราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้ มีความน่าเป็นห่วงจะปรับตัวลดลงอีก เพราะข้าวไทยต้องลดราคาลงเพื่อการแข่งขัน จากมีข้าวขาวของอินเดียเข้ามาแข่งขันในตลาด หลังจากหยุดส่งออกไปกว่า 1 ปี
นอกจากนี้ยังต้องแข่งขันกับข้าวจากเวียดนาม ปากีสถาน เมียนมา กัมพูชาที่ส่วนใหญ่ขายในราคาตํ่ากว่าข้าวไทย จากมีต้นทุนการผลิตตํ่ากว่า ผลผลิตต่อไร่สูงกว่า และค่าเงินไม่แข็งค่า หรือแข็งค่าน้อยกว่าไทย
“จากอินเดียยกเลิกการแบนส่งออกข้าวขาว มองว่าการซื้อขายข้าวในตลาดโลกช่วง 1-2 สัปดาห์แรกที่อินเดียกลับมาส่งออกตลาดจะเงียบ และหยุดซื้อ และจะ Wait & See เพื่อดูว่าทิศทางตลาด และราคาข้าวจะเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันมีการคาดการณ์กันว่า ผลผลิตข้าวโลกในปี 2568 ในเกือบทุกประเทศจะกลับมาดีจากลานีญาทำให้มีฝนตกและมีปริมาณนํ้ามากเอื้อต่อการทำนา แม้ผลผลิตจะเสียหายบ้าง แต่ในภาพรวมผลผลิตข้าวโลกปีหน้าจะเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้นหลายประเทศที่เป็นประเทศผู้นำเข้าข้าว จะลดการนำเข้าลง เช่น อินโดนีเซีย ที่เคยนำเข้าข้าวปีละ 4 ล้านตัน กระทรวงเกษตรสหรัฐคาดการณ์ในปีหน้า อินโดนีเซียจะลดการนำเข้าลงเหลือแค่ 1.5 ล้านตัน”
จากทั้ง 3 ปัจจัยลบคือเงินบาทแข็งค่า อินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาว และผลผลิตข้าวโลกปี 2568 ที่จะเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ไทยส่งออกข้าวได้ลดลง เบื้องต้นคาดปี 2568 ไทยจะส่งออกข้าวได้ที่ระดับ 6 ล้านตัน จากปี 2567 คาดจะส่งออกได้ 8.5-8.7 ล้านตัน โดยอินเดียผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 โลกที่กลับมาส่งออกข้าวขาวในปลายปีนี้ คาดทั้งปี 2567 อินเดียจะส่งออกข้าวได้ที่ระดับ 18-19 ล้านตัน และปี 2568 จะเพิ่มมากขึ้น (อินเดียเคยส่งออกข้าวได้สูงสุด 22 ล้านตัน ในจำนวนนี้ก่อนแบนส่งออกข้าว อินเดียเคยส่งออกข้าวขาวได้ปีละ 5-6 ล้านตัน)
ส่วนเวียดนามมีโอกาสแซงไทยขึ้นเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลก จากมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์หันมาผลิตและส่งออกข้าวพรีเมียม ทั้งข้าวหอม และข้าวพื้นนุ่มราคาสูง ดังนั้นเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันข้าวไทยในระยะยาว รัฐบาลต้องเร่งปฏิวัติข้าวไทยอย่างจริงจัง ทั้งการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และวิจัยพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่า