ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ยุทธศาสตร์การสร้างความสามารถในการแข่งขัน การสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร การแปรรูปสินค้าเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การขยายช่องทางการตลาดสินค้าเกษตร และดำเนินการขับเคลื่อนตามนโยบายรัฐบาล การยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรสู่ความยั่งยืนและส่งเสริมการตลาดนำการผลิตภาคการเกษตร
“องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร” หรือ อ.ต.ก. รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหนึ่งในองค์กรที่มีพันธกิจที่ต้องเร่งดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ดังกล่าว “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ นายปณิธาน มีไชยโย ผู้อำนวยการ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ถึงทิศทางและนโยบายที่จะดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ ควบคู่นโยบายการขับเคลื่อน “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” เพิ่มรายได้เกษตรกร 3 เท่าใน 4 ปีของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ตั้งพะเยาตลาดกลางเชื่อมเหนือ-ลาว
นายปณิธาน กล่าวว่า ในงบประมาณปี 2568 อ.ต.ก.ได้นำเสนอโครงการสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ โดยมีแนวคิดเพื่อการพัฒนาสินค้าเกษตรให้มีพื้นที่ซื้อ-ขาย และเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรที่มีมาตรฐาน มีความน่าเชื่อถือ โดยจะตั้งตลาดกลางที่จังหวัดพะเยา เพื่อเป็นแหล่งกลางส่งเสริมสินค้าเกษตรมูลค่าสูง สนับสนุนการเกษตรครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน และพะเยา โดยบูรณาการเชิงพื้นที่ มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของเกษตรกร ชุมชน และหน่วยงานภาคี ขับเคลื่อนพัฒนาด้านการเกษตรตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรได้มากขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งผลให้ภาคการเกษตรมีประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และรายได้สูง ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน
สาเหตุที่เลือก จ.พะเยา เพราะเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกับ สปป.ลาว โดยจะตั้งที่บ้านฮวก ตำบลภูซาง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา ที่อยู่ติดกับเมืองคอบ แขวงไชยบุรี ของลาว ซึ่งมีศักยภาพในการเชื่อมโยงทางการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว การส่งเสริมความสัมพันธ์ ระหว่างทั้งสองประเทศ รวมถึงกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่นํ้าโขง (GMS) ได้อีกด้วย โดยจะใช้พื้นที่ประมาณ 4,800 ตางรางเมตร ใช้งบประมาณกว่า 33.6 ล้านบาท ภายในจะมีตลาดกลางสินค้าเกษตร 4 ภาค รองรับผลผลิตจากสินค้า เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ระดับจังหวัดและใกล้เคียง
ปลูกได้-ขายดีดันจีดีพีเกษตร
สำหรับโครงการนี้ มีเป้าหมายปลูกได้ ขายดี By อ.ต.ก. โดย อ.ต.ก.ได้สนับสนุนให้เกษตรกรที่เข้าร่วมในการทำมาตรฐานที่ครอบคลุมการผลิตสินค้าเกษตรอย่างครบวงจร ทั้งด้านบรรจุภัณฑ์สู่การสร้างมูลค่าสินค้าเกษตร โดยจะมีการคัดเลือกเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจากสินค้าทางการเกษตรที่มีอัตลักษณ์แต่ยังขาดแคลน อาทิ บรรจุภัณฑ์สู่การสร้างมูลค่าสินค้าเกษตร,ปัจจัยการผลิต ซึ่งปีนี้จะมีการคัดเลือกกลุ่มเกษตรกร ใน 8 จังหวัดข้างต้น เพื่อเข้าไปส่งเสริมเกษตรกรตั้งแต่ต้นทาง คือการผลิต โดยช่วยลดต้นทุน พัฒนาการผลิตจากสินค้า ให้เป็นระดับเกษตรคุณภาพ เพื่อยกระดับราคาให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย
“ที่ผ่านมาผลผลิตด้านการเกษตรของไทย ผลิตออกมาจำนวนมากและพร้อมๆ กัน ทำให้ผลผลิตที่ออกมาไม่ตรงความต้อง ไม่มีตลาดรองรับ การมีโครงการปลูกได้ ขายดี By อ.ต.ก. ดำเนินการเพื่อปรับเปลี่ยนจากเกษตรแบบดั้งเดิมสู่เกษตรมูลค่าสูง ขยายช่องทางตลาดและจัดหาตลาดใหม่ให้ โดยมีเป้าหมายเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรไม่น้อยกว่า 20% และรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 20% ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในสาขาเกษตรเพิ่มขึ้นได้” นายปณิธาน กล่าว
คุมเข้ม“นอมินี” ตลาด อ.ต.ก.
ส่วนประเด็นข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ในเรื่องนอมินีเข้ามาเช่าพื้นที่ของตลาด อ.ต.ก.ในเรื่องนี้ นายปณิธาน กล่าวว่า ทราบว่ามีนอมินี แต่ว่าทุกคนอยู่ในหลักเกณฑ์ของการเช่าพื้นที่ของตลาด อ.ต.ก. คือ สามารถมีแผงได้ไม่เกิน 3 แผงค้าและถ้าผู้ประกอบการค้ามีครอบครองมากกว่า 3 แผงค้า และมีหลักฐานที่ชัดเจนว่าเป็นนอมินี อ.ต.ก.จะยกเลิกแผงค้าทันที
อ.ต.ก.ยังได้ดำเนินงานตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ ผ่านงบประมาณในปี 2567 อาทิ โครงการศูนย์คัดตัดแต่งและกระจายสินค้า (อ.ต.ก. DC) โดยมีแนวทางปรับปรุงสถานที่จุดคัดตัดแต่งเพื่อให้บริการเกษตรกร เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เป็นโครงการที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรเข้มแข็งสามารถขายสินค้าเองได้
นอกจากนี้ในช่วงที่ผลผลิตสินค้าเกษตรมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็น ข้าว หรือผลไม้ราคาตกตํ่า อ.ต.ก.จะช่วยเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย สินค้าเกษตรคุณภาพสู่ผู้บริโภคโดยตรง โดยให้นำผลไม้มาจัดแสดงและประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภค ผ่าน “ตลาด อ.ต.ก. พหลโยธิน” ซึ่งเป็นตลาดสดต้นแบบของไทยที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ และก้าวต่อไปจะเพิ่มความเชื่อมั่นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีชีวิตที่มีสุขภาพดี สำหรับเมืองแห่งอนาคต “Living Green” นี้คือ แผนและเป้าหมายของ อ.ต.ก.ที่สอดคล้องตามแผนวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ และสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,035 วันที่ 13 - 16 ตุลาคม พ.ศ. 2567