“ฐานเศรษฐกิจ” ยังคงเกาะติดนโยบาย “ปุ๋ยคนละครึ่ง” (ภาครัฐและเกษตรกรจ่ายคนละครึ่ง) เพื่อสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 ใช้งบประมาณ 33,530.956 ล้านบาท โดยใช้เงินทุนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) สำรองจ่าย 33,422.950 ล้านบาท และงบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปี 2567 จำนวน 108.006 ล้านบาท ซึ่งกรมการข้าว จะจัดทำข้อมูลเพื่อนำเสนอโครงการต่อคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) และจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและสนับสนุนงบประมาณต่อไป
แหล่งข่าวจากวงการปุ๋ย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าจากการคำนวณปริมาณปุ๋ยเคมีที่จะแจกให้กับเกษตรกรในอัตราปุ๋ยไร่ละ 50 กิโลกรัม(กก.) ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ (ไม่เกินครัวเรือนละ 1,000กก.) ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2567/68 ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร คาดจะใช้ปุ๋ยปริมาณ 3 ล้านตัน จากปกตินำเข้าแต่ละปีโดยเฉลี่ย 4.5 -5 ล้านตัน ล่าสุดได้มีกลุ่มบุคคลมานำเสนอโดยให้แต่ละบริษัทเข้าร่วมโครงการนี้โดยจะมีการให้โควตาแต่ละบริษัทเพื่อนำไปผลิต และนำมาจำหน่ายให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจำนวน 4.6 ล้านครัวเรือน
“หลายบริษัทมีคำถามว่า เกษตรกรอยู่ที่ไหนบ้าง จังหวัดไหน อำเภอไหน ขอรายชื่อได้หรือไม่ แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเกษตรกรจะมาซื้อจริง อีกทั้งเป็นปุ๋ยสูตรใหม่ด้วย ถ้าเป็นไปได้อยากจะให้เปิดกว้างเพื่อให้ทุกสูตรปุ๋ยได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการ เพราะเกษตรกรรู้และมีความเชื่อว่าใช้ปุ๋ยสูตรไหนได้ผลผลิตดี จะไปเปลี่ยนแปลงคงยาก ดังนั้นแนะนำให้รัฐช่วยในปุ๋ยสูตรเดิมที่ชาวนาใช้อยู่จะดีกว่า อย่างไรก็ดีหากอยากจะพัฒนาสูตรปุ๋ยข้าว อย่าลืมสูตรที่เหมาะกับดินด้วย อย่างปุ๋ย2 สูตรที่รัฐบาลแนะนำได้มีการทดลองใช้จริง มีผลผลิตมากจริง แต่จะมีปัญหาเรื่องโรค อากาศ ในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ทำให้ไม่สามารถการันตีได้ว่าหากใช้ปุ๋ยในสูตรที่รัฐบาลแนะนำจะได้ผลผลิตที่ดีในทุกพื้นที่ของประเทศหรือไม่ และปัจจุบันปุ๋ยแต่ละบริษัทขายมีมากกว่า 40 สูตร ที่พัฒนาไปไกลแล้ว”
ดังนั้นการที่แต่ละบริษัทจะจดทะเบียนสูตรปุ๋ย 2 สูตรจะต้องมีระบบ FAST Track หรือช่องทางพิเศษที่จะทำให้แต่ละบริษัทขึ้นทะเบียนได้รวดเร็วขึ้น แล้วการชำระเงิน การจ่ายปุ๋ยเป็นรูปแบบใด ทางเอกชนก็ยังไม่ทราบในรายละเอียดที่สำคัญจะต้องไปจดทะเบียนกระสอบบรรจุปุ๋ยใหม่ จากปัจจุบันประเทศไทย มีผู้ประกอบการปุ๋ย แบ่งเป็น ผู้นำเข้าปุ๋ยคอมปาวด์ แล้วสูตรที่ให้มา 2 สูตรนี้ จะเป็นปุ๋ยเชิงผสมต้องนำมาคลุกเคล้า ถ้าจะรับโจทย์ของรัฐบาลมาทั้งหมดก็ต้องถามกลับไปยังผู้นำเข้าว่านำเข้ามาแล้วจะขายให้หรือไม่ เพราะแต่ละบริษัทก็มีตลาดของตัวเองที่ต้องรักษาไว้ หากนำมาแบ่งกันผลิต เงินทุนจะมาจากไหน เพราะผู้ประกอบการจะมีต้นทุนเพิ่ม ดังนั้นคงต้องขอความชัดเจนก่อน
ด้านนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เรื่อง “ปุ๋ยคนละครึ่ง” เวลานี้ยังไม่ได้ลงลึกในรายละเอียด นับตั้งแต่ได้มีการพูดคุยกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย กับนักวิชาการจากศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตกำแพงแสน เรื่องปุ๋ยสูตรที่จะใช้ในนาข้าวกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 4.6 ล้านครัวเรือน ซึ่งได้มีผลการทดลองแล้วสามารถเพิ่มผลผลิตได้หนึ่งเท่า
ทั้งนี้วัตถุประสงค์ต้องการให้พี่น้องเกษตรกรหลุดพ้นจากความยากจน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นซึ่งการลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตเป็นแนวทางหนึ่ง ที่สำคัญปุ๋ยสำหรับนาข้าวของไทย เวลานี้เห็นด้วยที่ควรจะเปลี่ยนสูตรได้แล้ว เพราะเป็นสูตรเดิมที่ใช้มานาน เกษตรกรใช้แล้วได้ผลผลิตเท่าเดิม อยากให้มีการเปลี่ยนสูตรเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น ซึ่งถือเป็นทางเลือกของเกษตรกร ไม่ได้บังคับ
แหล่งข่าวจากกรมการข้าว กล่าวว่า เกษตรกรชาวนาข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร 4.68 ล้านครัวเรือน หากสนใจจะเข้าร่วมโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2567/68 แยกเป็นเกษตรกรที่ปลูกข้าวทั่วไป 4.48 ล้านครัวเรือน โดยปุ๋ย 2 สูตรนี้ที่จะนำมาใช้ได้แก่ สูตร 20-8-20 เหมาะสำหรับข้าวที่ไวต่อช่วงแสง ให้ผลผลิตสูงสุด 633 กก.ต่อไร่ และปุ๋ยสูตร 25-7-14 เหมาะสำหรับข้าวไม่ไวต่อช่วงแสงให้ผลผลิตสูงสุด 900 กก.ต่อไร่ ส่วนผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ 2 แสนครัวเรือน ให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดน้ำและชนิดเม็ด และขึ้นบัญชีนวัตกรรม ต้องนำไปใช้ผลิตข้าวจริง ห้ามนำไปจำหน่ายแก่บุคคลอื่น
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,987 วันที่ 28 เมษายน -1 พฤษภาคม พ.ศ. 2567