พาณิชย์ กางเป้าปิดดีลเจรจา FTA ไทย-อียู ปลายปี 2568

18 ต.ค. 2567 | 11:05 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ต.ค. 2567 | 11:26 น.

กรมเจรจาการค้าฯ เผย PCA เป็นสะพานเชื่อมการเจรจา FTA ไทย-อียู ยันเร่งเจรจาเต็มที่ ตั้งเป้าปิดดีลปลายปี 68 ด้านสภาอุตสาหกรรม เชื่อ PCA ช่วยยกระดับขีดวามสามารถแข่งขันไทย

วันนี้ ( 18 ตุลาคม 2567) นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในงานสัมมนาโต๊ะกลม”ก้าวสู่สัมพันธ์ไทย-อียู ยุคใหม่ ไทยจะได้อะไรภายใต้ PCA ในหัวข้อ”การใช้ PCA เป็นสะพานไปสู่ (FTA )เอฟทีเอไทย-อียู ว่า สำหรับ PCA จะเป็นสะพานเชื่อมให้การเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู โดย PCA ก็จะมีข้อบทต่างๆที่คล้ายกับข้อบทในการเจรจา FTA เช่น มาตรฐานทางการค้า มาตรการสุขอนามัย นโยบายการแข่งขัน มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจยั่งยืน ซึ่งประเด็นเหล่านี้ถือเป็นประเด็นสำคัญในการเจรจา FTA ไทย-อียู

 

พาณิชย์ กางเป้าปิดดีลเจรจา FTA ไทย-อียู ปลายปี 2568

 

ทั้งนี้ โดย PCA จะเป็นพื้นฐานของการเจรจาสร้างความร่วมมือ FTA กับ อียู ในอนาคต ซึ่งประเทศที่เจรจา FTA กับอียูจะต้องมี PCA ไม่ว่าจะมีก่อนหน้าลงนาม หรือระหว่างการเจรจา

ขณะเดียวกัน ความคืบหน้า FTA ไทย-อียู มีการเจรจาของทั้ง 2 ฝ่ายไปแล้วในรอบที่ 3 ซึ่งตลาดอียูถือเป็นตลาดที่สำคัญของไทยมีมูลค่ากว่า 4.1 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นส่วนการส่งออกของไทยทั้งหมด 6-7 % และคาดว่าหากการเจรจาจบและมีการลงนามของทั้ง 2 ฝ่ายจะผลักดันการค้า การบริการ และการลงทุนได้มากขึ้น

 

พาณิชย์ กางเป้าปิดดีลเจรจา FTA ไทย-อียู ปลายปี 2568

 

อย่างไรก็ดี ในการเจรจา 3 รอบที่ผ่านมา ถือว่าไปได้ดีมีการเจรจาคลอบคลุมประเด็นต่าง ๆ โดยมีการประชุมระดับหัวหน้าคณะ และกลุ่มย่อยระดับผู้เชี่ยวชาญ 19 คณะ ซึ่งคลอบคลุมสินค้าและบริการ การจัดซื้อจัดจ้าง พลังงาน สิ่งแวดล้อม ทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น ในระยะต่อไปจะมีการเจรจาในเรื่องของการเปิดตลาดของทั้ง 2 ฝ่าย จะมีการเจรจาต่อไปและสามารถปิดดีลได้ ซึ่งเราก็จะเจรจาต่อรองอย่างรอบคอบเพื่อผลประโยชน์ของประเทศและเกิดความสมดุลย์ของทั้ง 2 ฝ่าย รวมทั้งผลกระทบต่างๆ

“กรมฯตั้งเป้าเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูให้เสร็จโดยเร็ว โดยคาดว่าจะเร่งปิดการเจรจาได้ในปลายปี 68 ซึ่งเราเดินหน้าเต็มที่ และถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล อย่างไรก็ตามหลายประเด็นที่อยู่ในระหว่างการเจรจาถือเป็นความท้าทายทั้งเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง สิ่งแวดล้อม พลังงาน ซึ่งเราจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ” นางสาวโชติมา กล่าว

ด้าน ดร.ภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวในหัวข้อ” PCAกับการยกระดับขีดความสามารถของธุรกิจไทย “ว่า PCA เป็นเหมือนช่องทางที่จะทำให้อุตสาหกรรมไทยสามารถเคลื่อนไปยังยุโรปได้กว้างขึ้น หลังจากที่ไทยมีความร่วมมือกับองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ไทยจะรับมือความท้าทายของโลก ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาด หรือโลกเดือด เป็นต้น 

นอกจากนี้ยังเชื่อว่าการสร้างความร่วมมือกับสหภาพยุโรป จะทำให้ไทยพัฒนาจากประเทศที่รับผลิตสินค้า เป็นประเทศที่ผลิตสินค้าเพื่อทำแบรนด์ขายได้เอง เปลี่ยนจากการใช้แรงงานเป็นการใช้เทคโนโลยี เปลี่ยนจากแรงงานไร้ฝีมือเป็นแรงงานคุณภาพสูง และจะเปลี่ยนผ่านจากการผลิตเพื่อกำไรเป็นการผลิตควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมให้ได้รับการยอมรับจากตลาดโลกในอนาคต

 

พาณิชย์ กางเป้าปิดดีลเจรจา FTA ไทย-อียู ปลายปี 2568

 

ทั้งนี้ภาคเอกชนจะใช้ประโยชน์จาก PCA ในเรื่องของแนวทางปฏิบัติต่างที่อียูวางไว้ ไม่ว่าจะเป็น แนวทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยขอรับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญจากอียูเพื่อพัฒนามาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของสินค้า ด้านพลังงาน จะสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับพลังงานรูปแบบใหม่รวมถึงดึงเทคโนโลยีเพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ขณะที่ด้านการค้าจะยกระดับมาตรฐานที่ได้เรียนรู้จากอียูผ่านความร่วมมือ PCA

สำหรับ อียูถือเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทย โดยในปี 2566 การค้าระหว่างไทยและอียู มีมูลค่า 41,582.24 ล้านดอลลาร์ โดยไทยส่งออกไปอียู มูลค่า 21,838.37 ล้านดอลลาร์ และไทยนำเข้าจากอียู มูลค่า 19,743.87 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า และสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์

 

พาณิชย์ กางเป้าปิดดีลเจรจา FTA ไทย-อียู ปลายปี 2568