รายงานข่าว สถานการณ์ปลาหมอคางดำในหลายพื้นที่ระบุ มีความหนาแน่นลดลงอย่างเป็นรูปธรรม หลังกรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตาม 7 มาตรการของกรมประมงอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง
โดยประมง 3 จังหวัด สงขลา-จันทบุรี-เพชรบุรี ได้ออกมาเปิดเผยว่า ยังคงเดินหน้าควบคุมจำนวนปลาหมอคางดำอย่างต่อเนื่อง เน้นสร้างการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อเฝ้าระวังการแพร่กระจายอย่างเข้มข้น และร่วมมือกับเกษตรกรกำจัดปลาหมอคางดำที่อยู่ในบ่อร้าง เพื่อช่วยหยุดวัฏจักรการระบาด ส่งเสริมการแปรรูปและบริโภค และฟื้นฟูความหลากหลายของระบบนิเวศ
นายเจริญ โอมณี ประมงจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่าา สถานการณ์ปลาหมอคางดำในพื้นที่จังหวัดสงขลาเวลานี้ พบเฉพาะพื้นที่ในอำเภอระโนดเท่านั้น ซึ่งทางประมงจังหวัดมีการสำรวจปริมาณปลาเป็นประจำทุกเดือน พบว่าความหนาแน่นของปลาหมอคางดำในภาพรวมทุกคลองลดลงจากการสำรวจ เป็นผลจากการดำเนินมาตรการของกรมประมง จากความต้องการของชาวบ้านที่จับมาเพื่อบริโภคเพิ่มขึ้น และนำมาแปรรูปทำปลาแดดเดียวซึ่งได้ราคาค่อนข้างดี โดยเฉลี่ยจับขึ้นมาได้วันละ 80 กิโลกรัม
ทั้งนี้ประมงจังหวัดสงขลา ได้เน้นการประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักรู้ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกอำเภอของจังหวัด รวมถึงชาวประมงในทะเลสาปสงขลาช่วยกันเฝ้าระวังการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำอย่างใกล้ชิด ขณะนี้ยังไม่พบปลาหมอคางดำในพื้นที่อื่นนอกเหนือจากอำเภอระโนด
จากนี้ไปทางประมงสงขลาจะเน้นให้ความสำคัญกับการกำจัดปลาหมอคางดำที่อยู่ในบ่อทิ้งร้าง เพื่อป้องกันการหลุดรอดออกมาแพร่ระบาดในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยร่วมมือกับชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดสงขลา เจ้าของบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ช่วยจับปลาหมอคางดำจากบ่อที่ทิ้งร้าง โดยใช้กากชา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ จำนวน 1,000 กิโลกรัม
สำหรับปลาที่จับได้จะนำมาหมักน้ำหมักชีวภาพไว้ใช้ในกลุ่มเกษตรกรต่อไป พร้อมทั้งเตรียมปล่อยปลานักล่าเพิ่มเติมเพื่อช่วยควบคุมการแพร่พันธุ์ของปลาหมอคางดำขณะเกิดน้ำหลากในช่วงปลายปี
นายสมพร รุ่งกำเนิดวงศ์ ประมงจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ที่ผ่านมา ประมงจันทบุรีดำเนินการตามมาตรการของกรมประมงบูรณาการความร่วมมือกับหลายภาคส่วน กรมราชทัณฑ์ ตำรวจ ผู้นำชุมชน เกษตรกร ชาวประมง และได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน รวมถึงซีพีเอฟ สนับสนุนอุปกรณ์การจับสัตว์ ลูกปลาผู้ล่า ช่วยกันจัดการปลาหมอคางดำด้วยแนวทางที่เหมาะสมกับบริบทในพื้นที่ ส่งผลให้ปริมาณปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติมีแนวโน้มลดลง
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่าในบริเวณอ่าวคุ้งกระเบนยังมีความหลากหลายของชนิดสัตว์น้ำพื้นถิ่น และพบปลาหมอคางดำในบริเวณคลองชลประธานน้ำเค็มและบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของโครงการ ประมงจันทบุรีมีเป้าหมายในการดำเนินการตามมาตรการของกรมประมง และขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะเจ้าของบ่อเลี้ยงสัตว์ ชาวประมงที่ความชำนาญในการจับสัตว์น้ำช่วยกันจับปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำร้าง
ขณะที่เวลานี้ สำนักงานประมงจังหวัดจันทบุรียังคงดำเนินการรับซื้อปลาหมอคางดำจากเกษตรกรที่จับจากธรรมชาติ จำนวน 5,000 กิโลกรัมเพื่อส่งต่อให้กับสำนักงานพัฒนาที่ดินเพื่อไปผลิตน้ำหมักชีวภาพ โดยได้รับซื้อไปแล้ว ประมาณ 3,000 กิโลกรัม
ด้านจังหวัดเพชรบุรี นายประจวบ เจี้ยงยี่ ประมงจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า ประมงเพชรบุรีได้มีการสำรวจปริมาณปลาหมอคางดำพบมีอยู่ไม่ถึง 40 ตัวต่อพื้นที่ 100 ตารางเมตร (ตร.ม.) จากเดิมที่เคยพบ 80 ตัวต่อ 100 ตร.ม. และยังเดินหน้าบูรณาการทุกภาคส่วนดำเนินมาตรการกำจัดต่อเนื่อง ทั้งจัดลงแขกลงคลอง ปล่อยปลาผู้ล่า
นอกจากนี้ ยังมีการสื่อสารสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนร่วมมือกันจับปลาทันทีที่พบไม่ต้องรอกิจกรรมของภาครัฐ ตามแนวทาง “เจอ แจ้ง จับ” และยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมนำปลาหมอคางดำที่จับได้ไปประกอบเป็นอาหารหรือแปรรูปเป็นสินค้าประจำจังหวัด โดยเตรียมจับมือกรมราชทัณฑ์สอนผู้ต้องขังทำน้ำปลา เพื่อฝึกเป็นทักษะอาชีพต่อไป ตั้งเป้าลดประชากรปลาหมอคางดำในพื้นที่เหลือน้อยกว่า 30 ตัวต่อ 100 ตร.ม. และฟื้นฟูความหลากหลายของระบบนิเวศในแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน