กยท. ส่งน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำ กว่า 6 แสนลิตร ถึงมือชาวสวนยางแล้ว

10 ต.ค. 2567 | 03:51 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ต.ค. 2567 | 03:51 น.

กยท. ส่งน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำ กว่า 6 แสนลิตร ถึงมือชาวสวนยางแล้ว ! จ่อรับผลิตน้ำหมักเพิ่มจากกรมประมง ขานรับนโยบาย ก.เกษตรฯ ดำเนินการต่อเนื่อง

นายณรงศักดิ์ ใจสมุทร รองผู้ว่าการด้านธุรกิจ การยางแห่งประเทศไทย( กยท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินงานในการนำปลาหมอคางดำมาแปรรูปเป็นน้ำหมักชีวภาพว่า กยท. ได้รับซื้อปลาหมอคางดำในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จำนวน 600,000 กิโลกรัม นำมาผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำได้ประมาณ 1 ล้านลิตร

ปัจจุบัน กยท. ได้กระจายน้ำหมักชีวภาพฯ จำนวน 600,000 ลิตรดังกล่าว ถึงมือเกษตรกรชาวสวนยางที่เป็นสมาชิกแปลงใหญ่ยางพาราทั่วประเทศแล้ว ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา และอีก 400,000 ลิตร กยท. มีแผนที่จะดำเนินการจำหน่ายให้กับเกษตรกรผู้รับการปลูกทดแทนและเกษตรกรทั่วไป โดยคาดว่าจะจำหน่ายหมดก่อนช่วงฤดูฝนปี 2568 เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรก่อนเริ่มฤดูฝน (พ.ค. – ก.ค.) เนื่องจากในช่วงฤดูฝนเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการนำน้ำหมักชีวภาพฯ ไปใช้บำรุงพืชเกษตรต่อไป

สำหรับการนำปลาหมอคางดำมาแปรรูปเป็นน้ำหมักชีวภาพเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางให้ได้ใช้ปุ๋ยที่มีคุณภาพตามมาตรฐานของกรมพัฒนาที่ดิน นอกจากมีราคาถูกกว่าปุ๋ยอินทรีย์เป็นการช่วยลดต้นทุนทางการเกษตรให้กับชาวสวนยาง ช่วยเพิ่มผลผลิตยางพาราได้แล้ว อีกประการสำคัญคือ เป็นการสอดรับนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ต้องการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่ส่งผลต่อระบบนิเวศ

ดังนั้น กยท. ยังคงเดินหน้าดำเนินการแปรรูปน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำอย่างต่อเนื่อง โดยเบื้องต้น กยท. ได้รับการประสานจากกรมประมงที่มีความประสงค์จะมอบปลาหมอคางดำจำนวน 200 ตัน ให้กับ กยท. โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อให้นำไปดำเนินการผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพฯ ในล็อตต่อไป

“การดำเนินการแปรรูปน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำ นับเป็นความสำเร็จของ กยท. ในการเข้าไปมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ โดยสามารถผลิตน้ำหมักชีวภาพฯ ที่มีคุณภาพส่งถึงมือเกษตรกรชาวสวนยางแล้ว สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการทำการเกษตรได้จริง” รองผู้ว่าการด้านธุรกิจ กยท.กล่าวทิ้งท้าย