ไล่ล่าปลาหมอคางดำคึก กรมประมง หนุนงบ 4.9 ล้าน ผลิตน้ำปลาร้า

06 ต.ค. 2567 | 05:25 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ต.ค. 2567 | 05:26 น.

“อัครา พรหมเผ่า” รัฐมนตรีช่วยเกษตร เปิดปฎิบัติการไล่ล่าปลาหมอคางดำ ต่อเนื่อง ล่าสุด หนุนกรมประมง อัดงบ 4.9 ล้าน ให้องค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นนำไปผลิต "ปลาร้า" นำร่องกว่า 2 แสน กิโลกรัม นำร่อง "เพชรบุรี" เริ่ม 7 ต.ค. เป็นต้นไป

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งปัจจุบัน นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เข้ามากำกับดูแลกรมประมง โดยได้มอบนโยบายให้กรมประมงเร่งขับเคลื่อนการดำเนินมาตรการด้านต่าง ๆ ในเชิงรุกอย่างเข้มข้น เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นระยะยาวในการลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยเฉพาะในมาตรการที่ 3 คือการนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ อาทิเช่น การหมักปลาร้า

ไล่ล่าปลาหมอคางดำคึก กรมประมง หนุนงบ 4.9 ล้าน ผลิตน้ำปลาร้า

ล่าสุดสำนักงบประมาณ ได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นงบกลางจากรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ภายใต้แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พ.ศ. 2567 – 2570 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ซึ่งมีเป้าหมายในการกำจัดปลาหมอคางดำออกจากระบบนิเวศให้ได้ 200,000 กิโลกรัม เป็นวงเงินทั้งสิ้น 4,900,000 บาท  กรมประมงจึงได้เร่งจัดสรรงบประมาณอุดหนุนให้กับองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น/ วิสาหกิจชุมชน/ กลุ่มแม่บ้าน/ สหกรณ์

 

ไล่ล่าปลาหมอคางดำคึก กรมประมง หนุนงบ 4.9 ล้าน ผลิตน้ำปลาร้า

เพื่อนำไปผลิตน้ำปลาร้า ภายใต้โครงการ “สร้างแรงจูงใจในการนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกไปใช้ประโยชน์โดยการหมักปลาร้า” ในพื้นที่พบการระบาด 9 จังหวัด จำนวน 20 กลุ่ม ๆ ละ 245,000 บาท ประกอบด้วย  จ.ชุมพร 5 กลุ่ม  จ.เพชรบุรี 4 กลุ่ม จ.สมุทรปราการ 4 กลุ่ม จ.สมุทรสงคราม 2 กลุ่ม  จ.ปราจีนบุรี 1 กลุ่ม  จ.ราชบุรี 1 กลุ่ม จ.ชลบุรี 1 กลุ่ม  จ.ระยอง 1 กลุ่ม  และ จ.นนทบุรี 1 กลุ่ม  สำหรับใช้ในการจัดซื้อวัตถุดิบปลาหมอคางดำและวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปอย่างถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ  กรมประมงจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการโครงการสร้างแรงจูงใจในการนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกไปใช้ประโยชน์โดยการหมักปลาร้า และคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการสร้างแรงจูงใจในการนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกไปใช้ประโยชน์โดยการหมักปลาร้าในระดับพื้นที่ เพื่อติดตามการดำเนินงานของแต่ละกลุ่มฯ ที่ได้รับเงินงบอุดหนุน ซึ่งในเบื้องต้นทางกรมประมงจัดสรรเงินงบประมาณให้กับองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น/ วิสาหกิจชุมชน/ กลุ่มแม่บ้าน/ สหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการฯ ครบทั้งจำนวน 20 กลุ่ม เรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่ขับเคลื่อนโครงการฯ ในทันที เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วที่สุด

ไล่ล่าปลาหมอคางดำคึก กรมประมง หนุนงบ 4.9 ล้าน ผลิตน้ำปลาร้า

นางพิชญา ชัยนาค ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ ให้รายละเอียดว่า   “ปลาร้า” เป็นอาหารที่นิยมบริโภคของคนไทย สามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ได้หลากหลายชนิด เช่น น้ำปลาร้าปรุงรส ปลาร้าผง ปลาร้าอัดก้อน จนปัจจุบันมีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ปลาร้าสำเร็จรูปบรรจุขวดจำหน่ายภายใต้แบรนด์ต่าง ๆ รวมถึงได้ส่งออกไปยังตลาดกลุ่มอาเซียน สหภาพยุโรป ตะวันออกกลาง สาธารณรัฐประชาชนจีน สหรัฐอเมริกา กลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงทางการตลาดนับหมื่นล้านบาทเลยทีเดียว 

ดังนั้น การกำจัดปลาหมอคางดำในรูปแบบการรับซื้อจากพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดในแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อนำมาหมักทำน้ำปลาร้า จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาซึ่งจะตอบโจทย์การใช้ประโยชน์ปลาหมอคางดำที่ถูกกำจัดได้อย่างเหมาะสม โดยจะช่วยหนุนภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำด้วยการบริโภคได้เพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้ทางกองฯ เตรียมลงพื้นที่เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ในการผลิตน้ำปลาร้าจากปลาหมอคางดำให้กับองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น/ วิสาหกิจชุมชน/ กลุ่มแม่บ้าน/ สหกรณ์ โดยเริ่ม Kick Off จังหวัดแรกที่ จ.เพชรบุรี ในวันที่ 7 ตุลาคม 2567 นี้ และจะทยอยให้ครบทุกจังหวัดที่เข้าร่วมโครงการฯ ต่อไป