นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่าประเทศไทย มีการปลูกพืชที่สำคัญมากมาย ทั้งพืชไร่ ไม้ดอก ไม้ผล และพืชผัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้ผลและพืชผัก มีพื้นที่ปลูกมากกว่า 7 ล้านไร่ หรือ 5%ของพื้นที่ทำการเกษตรของประเทศ พื้นที่กว่า 2 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ปลูกแบบยกร่องต้องดูแลรักษาโดยการใช้เรือ ทั้งการใช้เรือในการให้น้ำ และพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชในร่อง ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีการศึกษาในเทคโนโลยีเรือไร้คนขับ ทำให้เกษตรกรต้องนั่งไปในเรือ และพ่นสารด้วยตัวเอง ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากสารที่พ่น
นายยุทธนา เครือหาญชาญพงค์ วิศวกรการเกษตรชำนาญการพิเศษ จากสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม จึงมีแนวคิดว่า หากสามารถพัฒนาเทคโนโลยีบางส่วน ร่วมกับ เทคโนโลยีที่นำเข้ามาจากต่างประเทศในการบังคับเรือให้น้ำและพ่นสารแบบไร้คนขับ ก็จะเป็นโอกาสในการพัฒนาระบบควบคุมเรือสำหรับให้น้ำ หรือฉีดพ่นสารเคมี ให้มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลาย เป็นการลดต้นทุนการนำเข้า และสนับสนุนให้เกิดการผลิตใช้เองในประเทศ
สำหรับระบบควบคุมเรือ บังคับด้วยคลื่นวิทยุและระบบกล้องประเมินผล ผ่านระบบสมองกลฝังตัว Raspberry Pi ที่ควบคุมการจ่ายกระแสไฟฟ้าผ่าน Generator มอเตอร์เดินหน้า วาล์วไฟฟ้า ปั๊มฉีด การควบคุมด้วยคลื่นวิทยุ เป็นการควบคุมด้วยมอเตอร์บังคับทิศเดินหน้าระบบควบคุมวิทยุและระบบกล้องประมวลผล การรักษาเส้นทางอัตโนมัติเมื่อเรือเดินในเส้นตรงโดยใช้กล้องที่ติดตั้งบริเวณด้านหน้าเรือ การรักษาเส้นทางอัตโนมัติเมือเรือเดินในเส้นตรงด้วย Python Code ส่วนการเลี้ยวของเรือนั้นจะบังคับด้วยคลื่นวิทยุ บังคับด้วยมือ
ผลการทดสอบการพ่นสารของเรือพ่นสารอัตโนมัติในแปลงเกษตรกรที่ปลูกผักในจังหวัดราชบุรี พื้นที่ 1.6 ไร่ ความเร็วในการเคลื่อนที่เฉลี่ยของเรือ 0.57 เมตร/วินาที หน้ากว้างในการพ่นสาร 8 เมตร ความสามารถในการทำงานเฉลี่ย 10.13 ไร่/ชม ประสิทธิภาพการทำงานเฉลี่ย 98.16% อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ย 0.49 ลิตร/ไร่ อัตราการพ่นสารเฉลี่ย 50 ลิตร/ไร่
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่าเรือพ่นสารในร่อง บังคับด้วยคลื่นวิทยุ กรมวิชาการเกษตร สำหรับพ่นสารในร่อง แบบไร้คนขับเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้เกษตรกร หรือผู้รับจ้างพ่นสาร ไม่ต้องนั่งในเรือในขณะปฏิบัติงาน ช่วยลดอัตราการป่วยของเกษตรกรที่ได้รับจากสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้นทุกปี